แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

โคราชเร่งส่งเสริมโรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน ตั้งเป้าปี 54 มีโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานครอบคลุมทั้งจังหวัดอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อให้ ปชช.ได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่สะอาดปลอดภัย และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เผยล่าสุดมีโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่และเล็กผ่านการรับรองมาตรฐาน แค่ 29 แห่ง พบยังมีปัญหาโรงฆ่าเถื่อนกระจายอยู่มากทุกพื้นที่

 

นครราชสีมา/ เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายสุรชน ต่างวิวัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา และคณะกรรมการตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ในจังหวัดนครราชสีมาจำนวนกว่า 10 คน ได้เข้าตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ (โค-กระบือ) ของนายบรรยัด ปินะกาตา ตั้งอยู่เลขที่ 239 หมู่ 1 ต.หลุ่งประดู่ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535 ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์แห่งที่ 29 ของจังหวัดให้แก่ผู้ประกอบการ โดยโรงฆ่าสัตว์ของนายบรรยัดเป็นโรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็ก มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมกว่า 6 แสนบาท สามารถฆ่าสัตว์ประเภทโค-กระบือได้วันละ 1-5 ตัว

นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ รองผวจ. นครราชสีมา กล่าวว่า จ.นครราชสีมาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร โดยได้ดำเนินการตามนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร (Food  Safety) ของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2547 โดยเฉพาะกิจกรรมด้านโรงฆ่าสัตว์ได้มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนามาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ภายในจังหวัดให้สามารถผลิตเนื้อสัตว์ที่เหมาะแก่การบริโภค มีกระบวนการฆ่าสัตว์ และชำแหละเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในจังหวัด และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.นครราชสีมา ด้วย

ล่าสุดจนถึงขณะนี้ จ.นครราชสีมามีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน หรือได้รับใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ (ฆจส.2) แล้วจำนวน 29 แห่ง เป็นทั้งโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่และเล็ก โดยแบ่งเป็นโรงชำแหละไก่ ชำแหละสุกร ชำแหละโค-กระบือ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง หนองบุญมาก โชคชัย และ อ.ห้วยแถลง อย่างไรก็ตาม จำนวนโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวของ จ.นครราชสีมา ยังถือว่ามีน้อยมากในหลายอำเภอยังไม่มีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานแม้แต่แห่งเดียว ผู้ประกอบการ หรือชาวบ้านมักชำแหละเนื้อสัตว์กันเองตามทุ่งนาหรือตามบ้านเรือน ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะทำให้มีปัญหาเรื่องความสะอาด ขณะนี้ปศุสัตว์จังหวัดพยายามเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าสู่ระบบที่เป็นมาตรฐาน มีกระบวนการฆ่าและชำแหละเนื้อสัตว์ที่ทันสมัย สามารถผลิตเนื้อสัตว์ที่ถูก สุขอนามัยเหมาะแก่การบริโภค "จังหวัดนครราชสีมาตั้งเป้าว่าในปี 2554 จะต้องมีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง ครบทั้ง 32 อำเภอให้ได้" นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายสุรชน ต่างวิวัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นอกจากโรงฆ่าสัตว์จะสะอาดถูกหลักอนามัยแล้ว สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ต้องสะอาดด้วย ซึ่งปศุสัตว์จังหวัดได้เร่งดำเนินโครงการ "เขียงสะอาด" ให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื่องสัตว์ที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสิ่งปนเปื้อนและสารตกค้าง เป็นการลดค่าใช้จ่ายของรัฐ จากการรักษาผู้เจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาด ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาดหรือ เขียงสะอาด เพียงจำนวน 7 รายเท่านั้น

 

 

 

Go to top