เมื่อ วากิว โคราชผงาดในตลาดเนื้อ อุทยานวิทยาศาสตร์-มทส.ทำได้
เรื่องของอาหารประเภทเนื้อนอกจากให้พลังงานสูง ให้โปรตีนสูง ช่วยในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้น รสสัมผัสทางลิ้นของผู้คนส่วนหนึ่งกว่าครึ่งค่อนโลกเกี่ยวกับอาหารชนิดนี้ ยังได้รับความยิยมอย่างแพราหลายอีกด้วย
เนื้อวัววากิว เป็นเนื้อชนิดพิเศษ ที่ก่อนหน้านี้จะมีแต่เฉพาะถิ่นกำเนิด คือประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โดยเนื้อวากิว 5 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
1. Japanese Black
2. Japanese Brown
3. Japanese Polled
4. Japanese Shorthorn
5. Kumamoto Reds
วัวพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุดคือ Japanese Black ซึ่งชาวญี่ปุ่นยกย่องให้เป็นสุดยอดแห่งสายพันธุ์อันดับหนึ่ง โดยลักษณะรูปร่างของโคสายพันธุ์นี้มีขนาดเล็ก เส้นขนดำหยักเป็นลอน ส่วนกลางลำตัวกางออก ซี่โครงแข็งแรง ขาหลังและลำคอบาง วัวสายพันธุ์นี้เลี้ยงกันมากกว่า 90% ของประชากรวัวทั้งหมดในญี่ปุ่น และเฉพาะสายพันธุ์ Japanese Black นี้เท่านั้นที่จะให้เนื้อซึ่งมีไขมันแทรกในปริมาณสูงสุด
นอกจากเลี้ยงภายในประเทศแล้วยังมีการนำวัวทั้ง 5 สายพันธุ์หลักไปเลี้ยงที่นอกประเทศด้วย โดยชื่อเรียกก็จะเป็นไปตามประเทศที่นำวัวเหล่านั้นไปเลี้ยง เช่น ออสเตรเลีย วากิว เป็นต้น
และวันนี้ นอกจาก ออสเตรเลียวากิวแล้ว ประเทศไทยของเรา ยังมี โคราชวากิว อีกด้วย เป็นโคราชวากิว ที่ใช้วัวพันธุ์ Japanese Black พันธุ์ที่ดีที่สุด ที่ประเทศญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงอีกด้วย
โครงการผลิตโคเนื้อโคราชวากิวแบบครบวงจร” เป็นหนึ่งในโครงการหลักตามนโยบายอีสาน 4.0 และเป็นอุตสาหกรรมมุ่งเน้นของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ให้กับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส.กล่าวว่า โคพันธุ์โคราชวากิวเป็นผลงานวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์ โดย รศ.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.โดยริเริ่มที่จะทำการผลิตโควากิวลูกผสมขึ้น ตั้งแต่ ปี 2548 เพื่อปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อของไทยให้มีเนื้อนุ่มและไขมันแทรกสูง
“วิธีการคือ นำเอาน้ำเชื้อโคพันธุ์วากิวมาผสมเทียมให้กับแม่โคในเมืองไทย ทำให้ได้ลูกโครุ่นแรกเป็นโควากิวจากนั้น คือ นำลูกโคเพศผู้อายุ 12 เดือนที่ตอนแล้ว มาขุนอย่างประณีตอีก 24 เดือน จนมีอายุครบ 36 เดือน ซึ่งสามารถทำให้ได้ไขมันแทรกในเนื้อโคเกรด 4-6 ซึ่งสูงกว่าเนื้อโคพันธุ์อื่นๆ ที่ผลิตได้ในประเทศไทย การเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์โคราชวากิว นอกจากช่วยลดการนำเข้าเนื้อโคที่มีความนุ่มและไขมันแทรกสูงแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อการส่งออกไปขายต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบอาเซียนและจีนอีกด้วย ” อธิการ มทส.กล่าว
รศ.รังสรรค์ พาลพ่าย
รศ.รังสรรค์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาทำเรื่องเนื้อวัววากิวอย่างจริงจัง ในฐานะของคนที่เคยทำงานวิจัย และเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาก่อน เห็นอยู่เสมอว่า ชาวญี่ปุ่น นิยมกินเนื้อวากิวกันมาก เนื้อวากิวถือเป็นเนื้อสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะมีงานวิจัยออกมาชัดเจนว่า ไขมันที่แทรกตัวอยู่ในเนื้อวากิวนั้น เป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูง รวมทั้งมีโอเมก้า 3 6 และ 9 สูง ที่สำคัญคือ มีไขมันอิ่มตัวต่ำมาก รับประทานเข้าไปแล้ว จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดได้เมื่อเทียบกับการรับประทานเนื้อวัวชนิดอื่น
“ตอนนั้น ผมคิดว่า การเลี้ยงวัวเนื้อบ้านเราน่าจะสามารถพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ได้ดีกว่านี้ คือทำให้มีไขมันแทรกสูง นุ่ม ลดการนำเข้า และเพิ่มมูลค่าการส่งออก จึงได้ระดมทุนจากเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว เป็นหุ้นส่วนกัน ซื้อวัวตัวผู้พ่อพันธุ์วัววากิว จากประเทศออสเตรเลียมา 1 ตัว เพราะประเทศญี่ปุ่นมีกฏหมายห้ามส่งออกวัวสายพันธุ์นี้ เราได้วัววากิวพันธุ์แท้ อายุ 17 เดือนมาในราคา 7 แสนบาท ตอนนั้นระดมทุนมาได้ราว 8 แสนบาท พ่อวัวมาถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเดือนกันยายน 2551 เราตั้งชื่อว่า เจ้าโกโบริ”
อ.รังสรรค์ กล่าวว่า ช่วงแรก โกโบริสามารถให้น้ำเชื้อแก่เกษตรกรที่ร่วมลงขันในครั้งนั้นได้ทั้งหมดราว 200 คน สามารถผลิตลูกครึ่งวากิวรุ่นแรกได้อย่างแพร่หลาย
” ลูกของโกโบริ ที่ขุนแล้ว นำไปชำแหละ แล้วเราเชิญนักชิมจากประเทศญี่ปุ่นมากิน เขาการันตีให้ทันทีว่า รสดีเนื้อนุ่ม ไม่ต่างกับวากิวในญี่ปุ่น หรือ ออสเตรเลียเลย หลังจากนั้นจึงขอซื้อ ลูกโกโบริเลยในราคา 145,000 บาท และหลังจากนั้น ความนิยมในเนื้อวัววากิว ลูกหลานโกโบริ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ ราคาของโคราชวากิว ถูกกว่า วากิวที่นำเข้าจากออสเตรเลียและญี่ปุ่นอย่างมาก ขณะที่คุณภาพและรสชาติไม่ต่างกันเลย” รศ.รังสรรค์ กล่าว
ราคาที่ต่างกัน ที่ รศ.รังสรรค์ กล่าวมานั้น อธิบายได้ว่า เนื้อวากิว จะแบ่งออกเป็นเกรด โดยมีระดับของไขมันที่แทรกอยู่ระหว่างเนื้อเป็นตัวกำหนดราคา
ในประเทศญี่ปุ่น สำหรับเนื้อสันใน ซึ่งเป็นส่วนที่แพงที่สุด เริ่มต้นที่ระดับ 7-8 (ระดับ 3-4 ญี่ปุ่นไม่ส่งออก เก็บไว้กินเองในประเทศ) ราคากิโลกรัมละ 6,500-7,000 บาท วากิวโคราช จะอยู่ที่ 5,500 บาท วากิวโคราชยังมีเนื้อสันในที่มีไขมันแทรกระดับ 3-4 ในราคา กิโลกรัมละ 1,800 บาทด้วย ซึ่งถือว่า ถูกมาก
ส่วนเนื้อริบอาย ไขมันแทรก วากิวโคราลอยู่ที่ กิโลกรัมละ 2,500-2,800 บาท ถ้าเป็นของญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่ส่งมาขาย จะอยู่ที่ 3,500 บาท
“ไม่ต้องหวั่นว่า โคราชวากิว จะมีคุณภาพเนื้อและความปลอดภัยด้อยกว่าที่อื่นๆในโลก เพราะเรามีระบบ การควบคุมคุณภาพระดับเดียวกับประเทศญี่ปุ่นทุกประการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มทส. ได้รับจัดสรรงบประมาณบูรณาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการดำเนินการ “โครงการผลิตโคเนื้อโคราชวากิวแบบครบวงจร” ในเฟสแรก 52 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงสร้างพื้นฐานการเลี้ยงโคเนื้อมาตรฐาน คือ การจัดทำระบบการสืบย้อนกลับด้วยการฝังไมโครชิปกับวัวทุกตัวที่เข้าโครงการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามควบคุมและตรวจสอบโรคต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้โคราชวากิว มีประวัติสายพันธุ์ และปลอดจาก โดยสร้างคอกกลาง หรือโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง ที่เป็นระบบปิด ควบคุมอุณหภูมิ และให้อาหารอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขุนโคให้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้น และมีปริมาณไขมันแทรกสูงขึ้น ใช้ระบบโซลาเซลล์เป็นแหล่งพลังงาน มีระบบผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อการจัดการของเสียและผลิตพลังงาน และมีแปลงผลิตพืชอาหารสัตว์ที่ทันสมัย”รศ.รังสรรค์ กล่าว
นอกจากนี้จะทำการสร้างห้องปฏิบัติการขำแหละและตัดแต่งเนื้อเนื้อโคพันธุ์โคราชวากิว มาตราฐาน GMP และฮาลาล เพื่อการส่งออก ตั้งเป้าให้เป็นต้นแบบโรงชำแหละและตัดแต่งเนื้อมาตรฐานต้นแบบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทย ที่มีการตรวจโรคติดต่อจากโคถึงคนทั้งก่อนและหลังชำแหละ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบเนื้อโคที่ชำแหละแล้วว่ามีปริมาณสารตกค้างที่อันตราย ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง ยาปฏิชีวนะ ยาถ่ายพยาธิ และการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรค หรือไม่ และออกใบรับรองคุณภาพอาหารปลอดภัย (Food Safety) เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
“คาดว่า เมื่อถึงตอนนั้น ราคาเนื้อวากิวที่ขายภายในประเทศจะลดลงอีกประมาณ 20% ในขณะที่คุณภาพความสะอาดปลอดภัยจะมีเพิ่มขึ้น และเป้าหมาย ที่จะดำเนินต่อไปคือ การส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านและจีน ซึ่งนิยมรับประทานเนื้อวากิวมาก แต่พวกเขาจะได้รับประทานเนื้อวากิวในราคาที่ย่อมเยาว์กว่า ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย แต่คุณภาพเท่าเทียมกัน หากซื้อโคราชวากิว จากบ้านเรา ผมเชื่อว่า โคราชวากิวจะสามารถตีตลาดได้ไม่ยากนัก” รศ.รังสรรค์ กล่าว
น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์
ด้าน น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริม กิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สอว. และ มทส. ได้มีการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ โคราชวากิวให้เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรอย่างแพร่หลาย ตลอดจน มีความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ในส่วนของการเลี้ยงโคขุน สหกรณ์ผู้เลี้ยงฯ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ครอบคลุมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา
“และปัจจุบันนี้ กำลังจะยกระดับการพัฒนาการเลี้ยงโคขุนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนอย่างครบวงจร โดยใช้กลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร จะยกระดับการเลี้ยงโคไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพได้ โดยทาง มทส.และเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จะสนับสนุนและให้บริการ ฐานข้อมูล การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม การวิเคราะห์ ทดสอบและมาตรฐาน การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการให้บริการวิจัยและร่วมวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามห่วงโซ่คุณค่าการผลิตเนื้อโคคุณภาพสูง โคราชวากิวที่จะสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเนื้อโคขุนให้แข่งขันได้กับต่างประเทศ และที่สำคัญคือเราต้องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างคุณค่าให้ด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง”นส.ทิพวัลย์ กล่าว
สวรรค์ของนักกินเนื้อ อยู่ใกล้แค่นี้เอง
ขอขอบคุณบทความจาก : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1121764