เจอบทความพระเครื่องโคราช น่าสนใจ
สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
ในส่วนของพุทธคุณนั้น พระกรุวัดสะแกเป็นที่ปรากฏและยอมรับทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยมไม่แพ้พระสมัยลพบุรีเลยทีเดียว
“ประตูสู่ภาคอีสาน” หรือปราการด่านแรกที่จะเข้าสู่ดินแดนที่ราบสูง ซึ่งก็คือ จังหวัดนครราชสีมา หรือเมืองโคราชนั้น เป็นดินแดนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยขอม มีเมืองเก่า 2 เมือง คือ เมืองเสมาและเมืองโคราฆะปุระ (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.สูงเนิน ริม 2 ฟากฝั่งแม่น้ำลำตะคอง) ซึ่งจากการสำรวจของนักโบราณคดีพบว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยทวารวดี แต่ต่อมากลายเป็นเมืองร้างไป สันนิษฐานกันว่า ชื่อเมือง "โคราช" หรือ "นครราชสีมา" น่าจะเป็นการรวมชื่อเมืองเก่าแก่ทั้งสองเมืองนี้มาตั้งเป็นชื่อเมืองใหม่ เมืองนครราชสีมา มีชื่อปรากฏในประ วัติศาสตร์ชาติไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนคร ราชสีมาขึ้นมาใหม่ให้เป็นเมืองหน้าด่านที่มั่นคง และได้กลายเป็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในภาคอีสาน นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองแห่งวีรสตรีผู้กล้าหาญที่สร้างวีรกรรมอันห้าวหาญเด็ดเดี่ยวเยี่ยงบุรุษให้ประจักษ์ คือ "คุณหญิงโม" หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนาม "ย่าโม" ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า...
"...เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทยสมัยนั้น คิดการกบฏ ยกทัพเข้ามาในภาคอีสานและปลอมสาส์นอ้างว่าจะเข้ามาช่วยรบกับอังกฤษ เมื่อความลับเปิดเผยขณะกำลังเข้าสู่นครราชสีมา เมื่อทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯ ส่งทัพขึ้นมาปราบ เจ้าอนุวงศ์จึงกวาดต้อนเชลยชาวโคราชกลับไปเมืองเวียงจันทน์ด้วย รวมทั้งคุณหญิงโม ครานั้นเองคุณหญิงโมจึงรวบรวมผู้คนที่ตกเป็นเชลยสู้รบจนเจ้าอนุวงศ์และทหารเวียงจันทน์แตกพ่ายไปจนหมดสิ้นที่ทุ่งสำริด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "ท้าวสุรนารี"..."
สำหรับด้านศิลปวัตถุของเมืองนครราช สีมานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระสมัยขอม จะมีสมัยทวารวดีบ้างเล็กน้อย และน้อยมากที่จะมีการขุดพบพระเครื่องที่เป็นพระกรุ แต่ที่ถือว่าสำคัญและมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องคือ "พระกรุวัดสะแก"
วัดสะแก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครราชสีมา ติดกับตลาดสดเทศบาล สันนิษฐานว่ามีความเก่าแก่ในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.2519 พระเจดีย์องค์ใหญ่ในวัดเกิดชำรุดแตกหัก ปรากฏพระเครื่องในองค์พระเจดีย์ทะลักออกมาเป็นจำนวนมาก มีมากมายหลายพิมพ์ทรง ทั้งพระพิมพ์นาคปรก พระพิมพ์อู่ทอง พระพิมพ์วัดตะไกร พิมพ์ฤๅษี ฯลฯ โดยส่วนใหญ่เป็นพระที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และพระแทบทุกองค์จะมีการปิดทอง
พระกรุวัดสะแกพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ "พระพิมพ์นาคปรก" เป็นพระในสมัยอยุธยาที่สร้างล้อพิมพ์สมัยลพบุรี แบ่งได้เป็นหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ฐานห้าชั้น ฐานสามชั้น ฐานชั้นเดียว ฯลฯ เนื้อขององค์พระเป็นเนื้อชินเงิน และเนื้อตะกั่วสนิมแดง พระพิมพ์นาคปรกที่เป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง เนื้อจะแดงเข้มทุกองค์ จะปิดทองมาจากในกรุทั้งสิ้น และมีจำนวนมากที่สุดด้วย
ในส่วนของพุทธคุณนั้น พระกรุวัดสะแกเป็นที่ปรากฏและยอมรับทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยมไม่แพ้พระสมัยลพบุรีเลยทีเดียว เรียกได้ว่าสุดยอดแน่นอนครับผม
ขอขอบคุณบทความจาก : https://siamrath.co.th/n/134266