กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ สำหรับประเด็นการใช้กล่องโฟมใส่อาหาร ที่หลาย ๆ คนมีความเข้าใจว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ล่าสุด วันนี้ (9 มิ.ย.) ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “กล่องโฟม ไม่ได้อันตรายต่อสุขภาพ” หลังจากประเด็นเรื่องจับปรับถ้ามีคนใช้มือถือในปั๊มน้ำมันแล้ว สงสัยเรื่องต่อไปที่ผมคงได้โต้แย้งกับภาครัฐอีก ก็เรื่องที่จะห้ามใช้กล่องโฟมใส่อาหารเนี่ยแหล่ะครับ เพราะเห็นทั้ง สคบ. ทั้งกรมอนามัย ออกมาผลักดันกันใหญ่ สาเหตุหลักก็ด้วยการอ้างว่า ถ้าใช้กล่องโฟมใส่อาหารแล้ว มันจะอันตรายต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ คือถ้าบอกว่าใช้แล้วจะเป็นขยะที่ทำลายยาก รีไซเคิ้ลยาก ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ถ้าอ้างเรื่องสุขภาพนี่ มันไม่ใช่แล้ว
กล่องโฟมหรือภาชนะโฟมที่เราใช้กันนั้น เรียกว่าเป็น โพลีสไตรีน ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ของสารสไตรีนโมโนเมอร์มาเรียงต่อกัน สารสไตรีนโมโนเมอร์เดี่ยว ๆ นั้น ถูกต้องว่าถ้าร่างกายได้รับเข้าไป จะเป็นอันตรายได้หลายอย่าง แต่เมื่อมันมาจับกันเป็นโพลีสไตรีนแบบกล่องโฟมแล้ว มันจะเสถียรสูงมาก มีคุณสมบัติทนทาน เบา เอามาเป่าขึ้นรูปง่าย ทนกรดทนด่างได้ดี ทนความร้อนดี-ไม่ละลาย-แต่อาจจะบิดเสียรูปทรงไปจึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก และได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์กรทางอาหารทั่วโลก ถ้าจะห่วงเรื่องว่ากล่องโฟมมันจะมีสารสไตรีน มันก็อาจมีได้บ้างเฉพาะที่หลงเหลือมากับการผลิต ซึ่งตามมาตรฐานการผลิตแล้ว เขาก็ควบคุมกันให้มีน้อยมาก ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนที่กลัวว่าเวลาใช้ ๆ ไป จะมีสารสไตรีนออกมาไหม
มีงานวิจัยว่า ถ้าเอาโฟมโพลีสไตรีนไปทำแก้วใส่น้ำร้อนๆ ก็จะมีสิทธิที่ทำลายพันธะทางเคมีให้สารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาได้ แต่พบว่าน้อยมากๆๆ เพียงแค่ประมาณ 1 ในพันเท่าของเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น บางคนบอกว่า เวลากล่องโฟมโดนน้ำมัน อย่างพวกน้ำมันปลา หรือแม้แต่หยดน้ำกลิ่นแมงดาสังเคราะห์ เห็นมันละลายเลย … คือถูกแล้ว มันคือการละลายเข้าหากันของตัวโพลีสไตรีนเข้าไปอยู่ในกรดไขมันหรือเอสเทอร์พวกนั้น แต่ไม่ใช่การสลายพันธะเพื่อให้เกิดสไตรีนโมโนเมอร์อันตรายขึ้น สุดท้ายคือ ผมงง ๆ ว่าเขาเอาข้อมูลจากไหนมาบอกว่ากินทุกวัน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้น 6 เท่า ผมหาที่มาอ้างอิงของเขาไม่ได้ ยกเว้นแต่ที่อ้างชื่อคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าท่านขายกล่องอาหารชานอ้อย อย่างนี้ก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ความน่าเชื่อถือน้อยลง ปล. ถ้าคิดแบบเดียวกัน อย่างนี้ผมก็ต้องกลัวกล่องอาหารชานอ้อยด้วยซิ ว่าเดี๋ยวกาวที่ใช้ขึ้นรูปกล่อง หรือสารฟอกขาวที่ใช้ฟอกชานอ้อย มันอาจจะตกค้างและออกมาในอาหาร กินไปเป็นสิบปีต้องอันตรายแน่เลย (ซึ่งมันก็ไม่ได้จะเป็นอย่างนั้นนะ)
มาดูความเห็นน่าสนใจของสมาชิกพันทิบท่านนึงคือ คุณ"digimontamer"
1) ถูกต้องดังที่อาจารย์เจษกล่าวมาครับ กล่องโฟมไม่ได้อันตรายเหมือนที่ประชาสัมพันธ์กันเลย
ในกระบวนการผลิตนั้น จะต้องมีการควบคุมปริมาณ SM ที่หลงเหลือค้างในเม็ด PS ครับ เพราะถ้ามี SM ค้างมากเกิน spec กำหนด เม็ดจะขุ่นและเหลือง ไม่ใสดังที่ควร และเป็นการสิ้นเปลือง SM ที่มีมูลค่าอย่างไร้ประโยชน์
Plant PS ทุกเทคโนโลยี แข่งกันว่าใครจะ recovery SM มาได้มากกว่ากัน เพราะเป็นจุดขายสำคัญเลยว่าจะคุ้มต่อการผลิตมากแค่ไหน
2) SM monomer ส่วนเกินที่เหลือ จะถูกขจัดออกไปเกือบหมดด้วยความร้อน ในกระบวนการ pelletization PS จากผงไปเป็นเม็ด (ตอน polymerization จาก reactor มันจะได้เป็นผง PS หรือ bead ขนาดเล็กๆ ต้องทำการหลอมและตัดเป็นเม็ดพลาสติก ก่อนส่งไปขึ้นรูป) และหากมีหลงเหลือก็จะถูกขจัดออกด้วยกระบวนการเป่าโฟมอยู่ดี
3) degradation temperature ของ PS นั้นค่อนข้างสูงครับ เกินกว่า 200 C ขึ้นไป และการสลายตัวของ PS เนื่องจากแสงแดดก็ไม่ก่อให้เกิด SM (styrene monomer) แต่อย่างใด ดังนั้นจะเก็บไว้ในที่ร้อน ตากแดด เจอความเย็น ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการหลุดออกมาของ SM
ถ้าเจอความเย็นแล้ว มี SM หลุดออกมาหล่ะก็ คุณก็เลิกทานโยเกริ์ต ไอติม ยาคูลย์ และเลิกแช่อาหารในตู้เย็นครับ เพราะภาชนะ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้านี้ ใช้ PS เป็นส่วนประกอบหมด
4) เวลากล่องโฟม เจอไข่ดาวร้อนๆ หรือน้ำมันร้อนๆ แล้วละลายเป็นรูนั้น เพราะเนื้อพลาสติกของมันน้อยมากครับ ข้างในมันเต็มไปด้วยฟองอากาศ ส่วนประกอบหลักๆคือ ฟองอากาศทั้งสิ้น ดังนั้นการโดนน้ำมันร้อนหยดสองหยด แล้วละลายก็ไม่แปลก
แม้จะละลายมันก็เป็น PS อยู่ดีครับ
5) ในกระบวนการผลิต PS ไม่มีการใช้ หรือ plasticizer หรือ BPA ครับ แต่อาจจะมีบ้างที่ใช้ mold releasing หรือ lubricant เพื่อช่วยลูกค้าในกระบวนการขึ้นรูป ซึ่งมักจะเป็น FDA grade
ไม่ควรเอาเรื่อง BPA หรือ plasticizer มาปะปนกับ PS เพราะเป็นคนละเรื่อง
6) หลายๆร้าน กลัวไม่ใช้กล่องโฟม PS มา บรรจุอาหาร แต่เปลี่ยนเป็นกล่องพลาสติกใสๆ ซึ่งนั่นก็วัดดวงอีกนั่นแล ว่าจะเป็น PET หรือ PS ไม่แตกต่างกันแต่ประการใด แค่ความรู้สึกเปลี่ยนเท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant