ไวรัสโคโรน่า เมอร์สเป็นชื่อของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในระบบการหายใจและจัดเป็นเชื้อในกลุ่ม coronavirus เชื้อ conronavirus มีหลายชนิดและก่อโรคบ่อยๆ ในระบบการหายใจคล้ายโรคหวัด คำว่า “เมอร์ส” เป็นคำทับศัพท์ของชื่อ “MERS-CoV” ซึ่งย่อมาจาก “Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus”
Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus
ไวรัสโคโรน่า เมอร์ส ถูกค้นพบครั้งแรกในผู้ป่วยอายุ 60 ปี ที่ถึงแก่กรรมจากปอดอักเสบ และไตวายในประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2555 ข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวคือ เฉพาะในเดือนเมษายน พ.ศ.2557 ที่ผ่านมาประเทศซาอุดิอาระเบียมีรายงานผู้ป่วยมากถึง 26 ราย และถึงแก่กรรม 10 ราย หากนับจำนวนรายป่วยเท่าที่ตรวจพบและมีรายงานจากประเทศนี้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน พบว่า มีจำนวนมากที่สุดในโลก คือ 371 ราย ในจำนวนนี้ถึงแก่กรรม 107 ราย (ร้อยละ 29) มีผู้อ้างว่าสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้อาจจะเป็นเนื่องจากอากาศเย็น เพราะอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาว แต่นักวิทยาศาสตร์หลายท่านเป็นห่วงว่าการพบผู้ป่วยจำนวนพุ่งขึ้นในเดือนเมษายนในประเทศอุดิอาระเบีย อาจจะเป็นสัญญาเตือนภัยว่าเชื้อเริ่มมีความสามารถจะแพร่กระจายเก่งขึ้น เชื้ออาจจะมีการกลายพันธุ์และเพิ่มความสามารถในการระบาดไปทั่วโลกได้ คล้ายกรณีที่เคยเกิดกับโรคซาร์ส (SARS) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV
ความรวดเร็วของการระบาดและจำนวนผู้ป่วที่ตายยังหลอกหลอนนักระบาดวิทยาและวงการแพทย์อยู่ตลอดเวลา หากเชื้อโครโรน่า เมอร์สเพิ่มความสามารถที่จะระบาด และมีวาระที่ประชาชนชาวมุสลิมจำนวนมากจากทั่วโลกมาอยู่ใกล้ชิดกัน เพื่อแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในเดือนตุลาคม หรือไปร่วมพิธีกรรมอื่นในช่วงถือศีลอด จะเปิดโอกาสให้เชื้อก่อโรคในคนที่มาจากหลายๆ ประเทศ และ/หรือพาเชื้อก่อโรคกลับประเทศของตน แล้วเชื้ออาจจะแพร่กระจายได้เร็วโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้จะมีการป้องกันอย่างดีแล้วก็ตาม ประเทศไทยได้รับโควตาให้ไปแสวงบุญปีละประมาณ 10,000 ราย ก่อนผู้แสวงบุญจะไปและหลังกลับมาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีผู้ใดติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมอร์สบ้าง ในปี พ.ศ.2556 กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามคนไทยที่ไปแสวงบุญและร่วมพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียและกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว พบว่ายังไม่มีรายใด ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมอร์ส ส่วนในประเทศมาเลเซียพบ 1 ราย ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมอร์สแล้ว
พาหะของเชื้อ วิธีการแพร่เชื้อ และพยาธิกำเนิด
ปัจจุบันพบว่าอูฐและค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีเชื้อชนิดนี้ การศึกษาเชื้อจากตัวอย่างในคอหอยของอูฐพบว่า สามารถแยกเชื้อจากคอหอยของอูฐอายุน้อยได้ร้อยละ 35 และอูฐตัวโตเต็มวัยได้ร้อยละ 15 จากจำนวนอูฐหลายร้อยตัว และตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อถึงร้อยละ 74 ของอูฐ แต่ไม่สามารถแยกเชื้อได้จากอุจจาระของอูฐ มีผู้ตั้งสมมติฐานของการแพร่เชื้อจากอูฐสู่คนว่า อาจจะเกิดจากการกินนมอูฐหรือเนื้ออูฐ แม้ว่าวิธีการแพร่เชื้ออาจจะเกิดจากการสูดดมละอองฝอยหรือสิ่งคัดหลั่งจากคอหอยอูฐได้ แต่ผู้ป่วยส่วนมากก็ไม่มีประวัติสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากระบบการหายใจของอูฐ
ผู้เขียนมีความคิดว่าการเกิดพยาธิสภาพของเชื้อ MERS-CoV จะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อถูกสูดเข้าไปในหลอดลมส่วนปลายและถุงลม และเนื่องจากเชื้อไปก่อโรคที่เนื้อปอดเลย (และอาจจะมีจำนวนมากด้วย) จึงทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ทัน เชื้อจึงแพร่กระจายไปทั่วปอด นอกจากนี้ผู้เขียนขอเพิ่มสมมติฐานอีกหนึ่งข้อ ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มายืนยัน คือ ผู้ที่ป่วยรุนแรงอาจจะเกิดจากการออกกำลังกายขณะเริ่มป่วยเป็นหลอดลม หรือปอดอักเสบเล็กน้อย แต่ไปออกกำลังกายให้หายใจแรงและเร็ว เลยเป็นการแพร่กระจายเชื้อไปทั่วเนื้อปอดได้อย่างรวดเร็ว เนื้อปอดเกิดการอักเสบรุนแรงจนหลายรายถึงแก่กรรมจากระบบการหายใจล้มเหลว สมมติฐานนี้ได้มาจากประสบการณ์การดูผู้ป่วยไข้หวัด 2009 ที่มีคนอ้วนหรือทหารหลายรายที่ไปออกกำลังกายขณะเริ่มป่วย แล้วป่วยเป็นปอดอักเสบรุนแรงในวันถัดมาจนการหายใจล้มเหลว และบางรายไอออกมาเป็นเลือดสด
ลักษณะคลินิกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมอร์ส
ผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้มีน้อยรายมาก ที่ไม่มีอาการใดๆ แต่อาจจะแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว ผู้ที่ติดเชื้อโคโรน่า เมอร์ส ส่วนมากแสดงอาการไข้ ไอ หรือหอบเหนื่อยในระยะแรกของโรค องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ข้อมูล 3 ด้าน ประกอบกันในการวินิจฉัยผู้ที่อาจจะติดเชื้อ ได้แก่ ลักษณะคลินิก ประวัติการสัมผัสเชื้อ และการตรวจพบหลักฐานการติดเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะคลินิก ได้แก่ การแสดงอาการในระบบการหายใจ ไอ ไอมีเสมหะ หอบ เหนื่อย ปอดอักเสบและมีไข้ และอาจจะมีการยืนยันปอดอักเสบจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกหรือการตรวจชิ้นเนื้อ หากโรคมีความรุนแรง จะทำให้การหายใจล้มเหลวและไตวาย
ประวัติการสัมผัสเชื้อ มีข้อมูลค่อนข้างหลากหลายในการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรน่า เมอร์ส แต่ยังไม่ทราบวิธีแพร่เชื้อที่แท้จริง ข้อมูลดังกล่าว ได้แก่
• อาศัยในดินแดนที่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้และ/หรือป่วยภายใน 14 วัน หลังจากเดินทางออกจากประเทศในคาบสมุทรอาหรับมาแล้ว
• สัมผัสกับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคนี้ เช่น หญิงอายุ 45 ปี ป่วยเป็นโรคนี่ ทั้งที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศที่เป็นดงของโรค และตนเองไม่ได้มีโรคประจำตัว แต่เป็นลูกสาวของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคนี้มาก่อนแล้ว และอยู่ใกล้ชิดกันในบ้านเดียวกัน
• สัมผัสกับผู้ที่เคยเดินทางไปยังดินแดนที่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ เช่น เด็กอายุ 4 ปี ป่วยเป็นโรคนี้ทั้งที่ไม่เคยไปต่างประเทศ แต่สัมผัสใกล้ชิดกับมารดาที่เดินทางกลับมาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อ 10 วันก่อน
• สัมผัสกับสัตว์หรือฟาร์มปศุสัตว์ เช่น ผู้ป่วยมีฟาร์มปศุสัตว์ 2 แห่งและสัมผัสกับอูฐ (อูฐเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสโคโณน่า เมอร์ส)
• ใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในหลอดลมของผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ (ข้อนี้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย)
ผู้สัมผัสใกล้ชิดหมายถึงสมาชิกในครอบครัวทุกรายที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย หรือมีการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากระบบหายใจ และรวมถึงทุกรายที่อาศัยอยู่ในบ้านหรืออยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย หรือผู้ที่ไปเยี่ยมและพูดคุยหรือสัมผัสผู้ป่วย
ปัจจุบันประเทศที่มีรายงานยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เมอร์สแล้ว ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี จอร์แดน คูเวต มาเลเซีย โอมาน คาต้าร์ ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และล่าสุด อียิปต์และสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยนอกประเทศคาบสมุทรอาหรับยังมีน้อย ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่การระบาดของโรค หรือในประเทศคาบสมุทรอาหรับและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ บาห์เรน อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน ปาเลสไตน์ โอมาน กาตาร์ ซีเรีย สหรัฐอาหนับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบียและเยเมน หลังจากกลับมาจากประเทศเหล่านี้แล้วภายใน 14 วัน หากป่วยเป็นไข้ ไอแล้ว 2 วัน อาการไม่ทุเลาหรือมีไข้ไอหอบเหนื่อย ให้ไปโรงพยาบาลและแจ้งประวัติเดินทางไปต่างประเทศให้แพทย์ท่ราบทุกครั้ง
การรักษา
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ ให้สวมหน้ากากอนามัยทันที ไม่ไอ จาม ใส่ผู้ใกล้ชิด ไม่เถลไถลไปที่อื่นๆ แล้วรีบไปโรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาลให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่โรงพยาบาลทราบทันทีว่า สงสัยตนเองว่าจะป่วยเป็นโรคนี้ โรงพยาบาลจะแยกตัวท่านไว้ในห้องแยก หากมีห้องแยกพิเศษที่ควบคุมแรงดันอากาศภายในห้องให้เป็นลบได้ และสามารถกรองและดูดอากาศในห้องออกไปฆ่าเชื้อได้ ท่านจะถูกรักษาที่ห้องนี้ นอกจากนี้ควรงดเว้นการออกกำลังกายถึงแม้ว่าจะป่วยเล็กน้อย ให้ทำเฉพาะกิจวัตรประจำวันเท่านั้น
เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสโคโรน่า เมอร์ส การรักษาที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ คือ การให้แอนติบอดีแก่ผู้ป่วยในรายที่ป่วยรุนแรง เพื่อไปต่อสู้กับเชื้อในร่างกายนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ศึกษาแอนติบอดีถึง 27 พันล้านชนิดในห้องปฏิบัติการแล้วพบว่า มีแอนติบอดี 7 ชนิด ที่ยับยั้งการรวมตัวของผิวเชื้อและผิวเซลล์ถึง 3 ตำแหน่ง การค้นพบแอนติบอดีเหล่านี้ ทำให้มีความหวังว่าจะพัฒนาวัคซีนขึ้นมาป้องกันโรคนี้ได้ ส่วนการให้แอนติบอดีเฉพาะเชื้ออาจจะใช้ในการป้องกันโรคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้าไปควบคุมการระบาดของเชื้อในระยะสั้น แต่ผู้เขียนคิดว่า ถ้ามีการค้นพบยาต้านไวรัสโคโรน่า เมอร์ส เช่นเดียวกับการที่เรามียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีมากในการรักษาและควบคุมโรคนี้ด้วย
การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ จนกว่าภูมิต้านทานของผู้ป่วยจะพัฒนาจนถึงระดับที่จะต่อสู้และทำลายเชื้อเองได้
การป้องกัน
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกไม่ได้แนะนำให้งดการเดินทางไปแสวงบุญ และร่วมพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่เดินทางไปประเทศดังกล่าวอาจจะสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ร่วมกับคนหมู่มากในประเทศที่มีโรคนี้ ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องถูกผู้ป่วย หรือน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ไม่คลุกคลีหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้และไอ ไม่แนะนำให้ไปเยี่ยมฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่ที่มีรายงานโรคนี้ ไม่แนะนำให้ไปจูบ หรือจับอูฐ หรือสัมผัสบริเวณจมูกและปากอูฐ หลีกเลี่ยงการกินนมอูฐดิบหรือเนื้ออูฐดิบ ผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศในแถบคาบสมุทรอาหรับ ควรจะดูแลตนเอง โดยละเว้นการไปในแหล่งชุมชนแออัดในประเทศจนกระทั่งเลย 14 วันหลังกลับมาแล้ว
สำหรับผู้ที่โดยสารเครื่องบินบ่อยๆ ควรพกหน้ากากอนามัยติดตัว เนื่องจากมีโอกาสนั่งใกล้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคหรือเพิ่งเริ่มป่วยหรือป่วยเล็กน้อย หากผู้โดยสารที่นั่งติดกันไอบ่อยๆ เราควรสวมหน้ากากอนามัยและเสนอให้ผู้โดยสารที่นั่งติดกันสวมหน้ากากอนามัยด้วย (อาจจะทำผ่านแอร์โฮสเตส) โดยเฉพาะการนั่งในสายการบินที่รับผู้โดยสารจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ถึงแม้ในเครื่องบินจะมีระบบกรองอากาศแล้วก็ตาม
บุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลต้องเข้มวดในการใช้วิธีมาตรฐานในการป้องกันการติดเชื้อ เพราะมีโอกาสสูงกว่าชุมชนในการที่จะรับผู้ป่วยที่มีเชื้อชนิดนี้ไว้ในโรงพยาบาลหรือในผู้ป่วยที่มาขอการรับการรักษาที่ตึกตรวจโรคผู้ป่วยนอก การดูแลผู้ที่มีอาการไอ ไข้ หอบ เหนื่อย ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับมาจากดงโรค ควรแยกผู้ป่วยไว้ในห้องที่มีความดันอากาศเป็นลบ และให้บุคลากรทางการแพทย์สวมเสื้อคลุม หน้ากากอนามัย แว่นตา หรืออาจจะเกิดละองฝอยลอยฟุ้งในอากาศในห้องได้ ต้องล้างมือก่อนและหลังออกจากห้องและทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากตัวผู้ปย
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกประเทศ ทำการเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสำรวจผู้ป่วยที่ป่วยเป็นปอดอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะรายที่ยังตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุ
ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ
บทความเผยแพร่จาก : http://health.haijai.com/1392/