ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มูลค่า 208.87 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา ถนนโครกกรวด-หนองปลิง ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา โดยดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามโครงการเมื่อเดือนมีนาคม2556 (ล่าช้ากว่าแผนงาน 1 ปี 2 เดือน) โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องท้องฟ้าจำลอง ดวงดาว อวกาศ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติให้กับประชาชนแต่ละจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ให้กับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในแต่ละจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น เป็นการเตรียมผู้เชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล
จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยที่เกิดจากการใช้วัสดุประดับตกแต่งผนังห้องอยู่ใกล้กับสายไฟฟ้าที่ไม่เรียบร้อย หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ และมีความชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์ภายใน
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริหารไม่ได้ติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อทราบปัญหาอุปสรรค/ข้อจำกัดต่างๆ ตามแผนการบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯขาดความพร้อมที่สำคัญคือการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการเพื่อรองรับภารกิจใหม่ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องตามแผนการบริหารงานที่กำหนด ขาดงบประมาณในการดูแล/บำรุงรักษาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดเสียหายได้ทันที
ขณะที่ สิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย หอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) มูลค่า 11.33 ล้านบาท ชำรุดไม่สามารถทำงานได้ , ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance) มูลค่า 11.16 ล้านบาท ไม่เคยเปิดการแสดงให้ชมเป็นการทั่วไปตามวัตถุประสงค์ , สวนเขาวงกต (Maze Garden) มูลค่า 0.67 ล้านบาท ไม่เคยมีผู้คนสนใจเข้ามาใช้หรือเข้ามาชม
"ศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 ถึงปัจจุบัน ณ เดือนมีนาคม 2558 มีผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะได้เข้าชมท้องฟ้าจำลองและศูนย์วิทยาศาสตร์ มีการฉายดาวและภาพยนตร์ 581 รอบ จำนวน 99,100 รายจากการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมศูนย์ดาราศาสตร์ฯ จำนวน 653 ราย พบว่า ทุกรายไม่ทราบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่นำเสนอข้อมูลความน่าตื่นตาและน่าประทับใจความสนุกสนาน ของหอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance)และสวนเขาวงกต (Maze Garden) จึงสรุปว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้"
เบื้องต้น สตง.ได้เสนอแนะให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาวงแผนหาทางแก้ไขปัญหาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไข/ปรับปรุงห้องจัดแสดงการฉายดาวและภาพยนตร์ประกอบ และอุปกรณ์จัดแสดงนิทรรศการภายในโซนวิทยาศาสตร์ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย จำนวน 4 โซนโดยเร่งด่วน และให้หาวิธีการควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง และจัดทำรายงานการประเมินผลและปรับปรุงการควบคุมภายในต่อไปด้านความปลอดภัย
ส่วนกรณีหอนาฬิกาเวลาโลกไม่สามารถใช้งานได้เลย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการประกันความชำรุดบกพร่องไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขหรือซ่อมแซมตามการประกันสัญญาเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2545 ข้อ 8 กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหากพบว่ามีเจตนาไม่สุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปและพิจารณาทางละเมิดกับผู้เกี่ยวข้อง