ผู้ว่าฯโคราชเร่งรัดสอบ 33 โครงการขุดลอกคลองและถนนของ อบจ.โคราช คาดสัปดาห์หน้าเสร็จส่ง ป.ป.ช.เชื่อโยงผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ล่าสุดแจ้งความดำเนินคดีแล้ว
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.59 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาทำโครงการขุดลอกคลอง และถนน ตามที่ทาง สตง.ตรวจพบความไม่ชอบพามากลนั้น ทางจังหวัดทราบเรื่องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงได้สั่งการให้ทางท้องถิ่นจังหวัด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เนื่องจากงบประมาณของ อบจ.นครราชสีมา ตามที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจ่ายขาดเงินสะสมแบ่งซื้อแบ่งจ้างเป็นโครงการเล็กน้อย ไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อจะหลีกเลี่ยงการดำเนินการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง ทางจังหวัดโดยท้องถิ่นจังหวัดร่วมกับ สตง. และ ป.ป.ช.จังหวัด ได้มีการประชุมการทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา
จากการไปตรวจสอบฎีกากว่า 240 โครงการเราพบว่า มี 33 โครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งใน 33 โครงการไปตรวจพบว่ามี 11 โครงการ โครงการละ 5 แสนบาท รวม 5,500,000 บาท ที่เบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการทำงาน ซึ่งการที่กล่าวหาไม่มีการทำงานก็ต้องลงไปพิสูจน์ในแต่ละพื้นที่ และเรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องประชาชนชาวบ้านในแต่ละพื้นที่มาแล้วมีการบันทึกถ้อยคำ ภาพถ่าย การเบิกจ่ายไปตรงกับภาพถ่ายที่เป็นพื้นที่จริง
ทั้งนี้ 11 โครงการเรามีการแจ้งความดำเนินคดีอาญา ในข้อหาทุจริตกับเจ้าหน้าที่ของ อบจ.นครราชสีมา ทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ทางผู้บังคับบัญชาของ อบจ.นครราชสีมาไปดำเนินการแจ้งความเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตั้งกรรมการสอบวินัย และยังแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างที่ร่วมในการเบิกจ่าย ตรงนี้เป็นส่วนที่หนึ่งที่เราทำเสร็จเรียนร้อยแล้ว และแจ้งความดำเนินคดีแล้ว และรายงาน พร้อมทั้งติดตามคดี
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ในส่วนที่สองที่เหลืออีก 22 โครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว โดยทางสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบตรงนี้ ซึ่งได้ลงไปในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องมีร่องรอยในการทำงาน และแต่ละพื้นที่ต้องนำช่างที่เชี่ยวชาญไปวัดทำกันจริงๆ เป็นรายโครงการว่า มีการดำเนินการทำจริงหรือไม่ ได้สเป็กหรือเปล่า ซ้ำซ้อนหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ตนคิดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะแล้วเสร็จ
ในส่วนที่สามนอกเหนือจาก 33 โครงการเป็นเรื่องของการใช้อำนาจในการโอนงบประมาณที่ตั้งปกติมาตั้งเป็นโครงการใหม่ แล้วโครงการใหม่นี้มีเงินจัดซื้อจัดจ้างโครงการไม่เกิน 500,000 บาท และโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างบางโครงการอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของ อบจ.นครราชสีมา เช่น โครงการเล็กอยู่ในพื้นที่ อบต.ใด อบต.หนึ่ง หรือบางโครงการเป็นในพื้นที่ใกล้กันลักษณะเหมือนกับซอยงานอีกประมาณกว่า 100 โครงการ ซึ่งตรงนี้ทางสำนักงาน สตง.รับผิดชอบไปตรวจสอบในรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะสรุปผลแล้วส่งไปให้ ป.ป.ช. เพื่อที่ ป.ป.ช.จะเชื่อมโยงว่า การทำอย่างนี้มีผู้เกี่ยวข้องระดับไหนบ้าง โดย ณ วันนี้ที่จังหวัดจะต้องตรวจให้แล้วเสร็จคือ 33 โครงการที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเขาเบิกเงินไปเรียบร้อย และเราพบว่า 22 โครงการไม่ได้ทำจริง แต่มีการเบิกเงิน
ทั้งนี้ปัญหาหลักคือพื้นที่ที่อ้างว่าดำเนินการแล้วบางพื้นที่มีน้ำ ซึ่งเราจะต้องใช้ช่างของสำนักงานโยธาธิการจังหวัดนำกล้องไปส่องตรวจสอบดินเดิม และมูลดินใหม่ เนื่องจากไม่สามารถวัดระดับท้องน้ำได้ ส่วนจำนวนที่เหลืออีกกว่า 100 โครงการถ้ามีการซ้ำซ้อนกับงานของ อบต. อย่างไรนั้น ตนคิดว่าเราก็ต้องดูที่เจตนาว่า ทำไมถึงยกเลิกโครงการเดิมมาทำโครงการใหม่ แล้วโครงการใหม่ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ.แต่ถึงแม้นว่ายังไม่ได้ลงมือดำเนินการ แต่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงการที่มันมีความผิดระดับหนึ่งแล้ว เพราะเนื่องจาก อบจ.ต้องทำโครงการที่มีลักษณะเป็นโครงการใหญ่กว่าโครงการของ อบต. ฉะนั้นต้องเป็นโครงการระหว่างตำบลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนได้รับงานเข้าไปยังกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และตอนนี้ก็กำลังทำรายงานเพื่อนำเสนอไปอีก ซึ่งทางกรมท้องถิ่นน่าจะนำเรียน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นทางจังหวัดฯไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งแต่แรก และลงไปตรวจพร้อมกับ สตง.
ส่วนจะสาวหรือโยงไปถึงข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูงใน อปท. ตรงนี้ทาง สตง.รับที่จะเป็นคนดำเนินการเพื่อดูความเชื่อมโยง ตนยืนยันทุกอย่างเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักฐาน โดยเฉพาะเรื่องนี้เข้าใจว่า สังคมกำลังจับตามอง