"ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 - กุมภาพันธ์ 2560 สามารถบันทึกภาพเสือโคร่ง ได้จำนวน 18 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 5 ตัว เพศเมีย 7 ตัว และลูกเสือโคร่ง 6 ตัว
ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมทั้งประสิทธิภาพใoการลาดตระเวนป้องกันรักษาพื้นที่ จึงทำให้เสือโคร่งสามารถดำรงชีวิตและมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ หลังจากครั้งสุดท้ายในปี 2545 ที่เคยบันทึกภาพเสือโคร่งได้บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ (คลองอีเฒ่า) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกล้องดักถ่ายภาพของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และ มูลนิธิ WildAid ประเทศไทย"
"การสำรวจครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2559 กรมอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ และมูลนิธิ Panthera ทำการสำรวจประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า จำนวน 158 ตัว ไว้ในบริเวณที่เป็นถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น มูลนิธิ Panthera ซึ่งได้ทำงานอนุรักษ์เพื่อปกป้องพันธุ์สัตว์ประเภทเสือภายใต้โครงการ Tiger Forever ประเมินว่าเมื่อพื้นที่กลุ่มป่า ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้รับการคุ้มครองดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์ จะสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งได้มากกว่าในปัจจุบันอีกหลายเท่า"
"ดร.ทรงธรรม บอกว่า สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ จำเป็นต้องปกปิดถิ่นที่อยู่ที่ชัดเจนของประชากรเสือโคร่งไว้เป็นความลับ เพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มผู้ลักลอบล่าเสือโคร่ง ซึ่งจัดเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความ อยู่รอดของเหล่าประชากรเสือโคร่ง โดยในปัจจุบัน เสือโคร่งถูกจัดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endanger species) เนื่องจากประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกมีจำนวนลดลงในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จากประมาณ 100,000 ตัว เหลืออยู่ไม่ถึง 4,000 ตัว"
ที่มา : NationTV.com