เด็กยุคผมเติบโตมาพร้อมกับหนังขายยาในยุคหนังพากย์ 16 มม. มีมิตร – เพชรา เป็น คู่พระคู่นางยอดนิยมตราตรึงอยู่ในความทรงจำมาจนถึงปัจจุบัน หากวันไหนมี หนังขายยามาฉายที่วัดประจำหมู่บ้านจะต้องไม่เป็นอันกินอันนอนกันล่ะ เที่ยวไปวิ่งเล่นใกล้ ๆ กับรถบริการขายยา ดูพนักงานจัดโต๊ะวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในตอนค่ำคืน ยิ่งตอนพนักงานกรอฟิล์มกลับเพื่อเตรียมฉายยิ่งอยากจะให้ค่ำเร็ว ๆ อยากจะให้พระเอกขวัญใจควบม้าต่อสู้กับเหล่าร้ายอย่างทรหด โลดแล่นบนจอเร็ว ๆ ครั้นพอตกเย็นบ้างก็จูงมือบุตร ฉุดมือมือหลาน ประสานมือแฟน เกี่ยวแขนกันมาดูหนังขายยา หนุ่มสาวบ้านทุ่งมีโอกาสได้พบกันและแต่งงานกันเพราะ “หนังขายยา” ก็มีหลายคู่เหมือนกัน
หน่วยบริการขายยาโดยใช้เกวียน เพื่อนำภาพยนตร์ออกไปใช้ฉาย และนำสินค้าออกจำหน่ายในชนบทห่างไกล
มิตร ชัยบัญชา – เพชรา เชาวราษฎร์ ดาราคู่ขวัญในยุคหนังขายยาในอดีต
ชื่อของภาพยนตร์ในอดีตแต่ละเรื่องฟังแล้วน่าดูยิ่งนัก เช่น จอมประจัญบาน, ร้อยป่า, อ้อมอกดิน, เหนือเกล้า, แมวเหมียว, สายเปล, เพื่อนรัก, ไอ้แก่น, เทพธิดาบ้านไร่, แสนรัก ล้วนผ่านตามาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะ “แสนรัก” ทำเอาน้ำตาท่วมจอเพราะสงสาร “บุญทิ้ง” ตัวละครในเรื่อง แต่ที่ประทับใจเห็นจะเป็นหนังของ “ดอกดิน” ศิลปินตัวดำ ๆ คู่กับอรสา ตัวขาว ๆ ไล่มาตั้งแต่ นกน้อย, มดแดง, กบเต้น, ปูจ๋า ผมจำได้ว่ายุคหลังที่ดูหนังกลางแปลงเห็นจะเป็น “ชุมทางเขาชุมทอง” ของ ส.อาสนจินดา มีมิตร ชัยบัญชา ขี่ม้าต่อสู้กับเหล่าร้ายคู่พิสมัย วิไลศักดิ์ น่าชมยิ่งนัก ส่วนในยุค 35 มม. เท่าที่จำได้ที่ได้ดูคือเรื่อง “วิมานสลัม” ของ สักกะ จารุจินดา ในยุคนั้นสมบัติ เมทะนี คู่กับดวงดาว จารุจินดา ของบริษัทถ่านไฟฉายตรากบ ฉายด้วยเครื่องอาร์ทอย่างดีส่องสว่างจนถึงดวงดาว หนังขายยาจึงถือเป็นความบันเทิงที่ดูได้ทั้งครอบครัว ดูได้ทั้งหมู่บ้าน ดูได้ทั้งชุมชน นับเป็นมหรสพความบันเทิงของชุมชนจริง ๆ
ร้อยป่า เรื่องดังในนิตยสาร “บางกอก” สร้างโดยพิษณุภาพยนตร์ มีครูเนรมิต กำกับการแสดง
จ้าวยุทธจักรหนังขายยาในอดีตมีหลายบริษัทด้วยกัน เช่น บริษัท โอสถสภา (เตกเฮงหยู) จำกัด, บริษัทถ้วยทองโอสถ, บริษัทเยาวราชจำกัด, ห้างยาไทย, กรุงเทพฟาร์มาซี, ห้างขายยาอังกฤษตรางู, บริษัท บีแอลฮั้ว, ห้างขายยาเพ็ญภาค, ห้างขายยาแสงสว่างตราค้างค้าว, ห้างขายยาศรีตระการโอสถ รวมทั้งโอวัลติน และคอลเกตปาล็มโอลีฟ เหล่านี้ล้วนผ่านตานักดูหนังในยุคอดีต
อ้อมอกดิน หนังดังในอดีต นำแสดงโดย มิตร – เพชรา กำกับการแสดงโดยรังสี ทัศนพยัคฆ์
คยอ่านประวัติความเป็นมาหนังขายยาของบริษัทโอสถสภา (เต็กเฮงหยู่) จำกัด พบว่า ในยุคแรกจะเรียกหน่วยฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่นี้ว่า ”หน่วยปลูกนิยม” ซึ่งเริ่มก่อตั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2487โดย การนำภาพยนตร์ไปฉายในชนบทถิ่นทุรกันดาร พร้อมกับการจำหน่ายสินค้าของบริษัท ซึ่งจะมีทั้งหน่วยรถยนต์ หน่วยรถไฟ และหน่วยเรือ ในพื้นที่แต่ละท้องถิ่น หากว่าในพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารก็จะใช้เกวียนบรรทุกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องปั่นไฟ เครื่องฉายหนัง จอ ลำโพงฮอร์น เพื่อที่จะให้บริการกับผู้ชมในท้องถิ่นห่างไกลอย่างไม่ย้อ ท้อ สำหรับหน่วยรถยนต์จะให้บริการในพื้นที่ที่มีถนนไปถึง หน่วยรถไฟจะเป็นการจำหน่ายสินค้าตามบริเวณสถานีรถไฟ ส่วนหน่วยเรือก็จะวิ่งตามแม่น้ำลำคลองในเขตสมุทรปราการ อยุธยา ปากน้ำโพ สำโรง ปราจีนบุรี รวมทั้งลำคลองสายหลักในเขตกรุงเทพฯ
หน่วยบริการขายยาทางเรือในอดีต
ทีมงาน “หน่วยปลูกนิยม” ของบริษัทโอสถสภา จำกัด ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “หน่วยโฆษณาภูมิภาค” ซึ่ง ทีมงานแต่ละคนจะมีความสามารถเป็นพิเศษ ทั้งเป็นนักพากษ์ นักร้องขับกล่อมแฟนภาพยนตร์ในช่วงการโฆษณาขายยา ส่วนการจำหน่ายสินค้าจะเริ่มในระหว่างการหยุดฉายภาพยนตร์ โดยบริษัทจะนำสินค้าออกจำหน่ายในราคาต้นทุนตามโค้วต้าในแต่ละคืน ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รู้จักสินค้าของบริษัท หากว่ามีคุณภาพก็จะหาซื้อมาใช้ตามร้านจำหน่ายสินค้าในตัวจังหวัด
เมื่อ ฉายภาพยนตร์แล้วเสร็จหน่วยบริการขายยาก็จะพักค้างคืนในหมู่บ้าน จากนั้นในตอนเช้าก็จะนำสินค้าออกจำหน่ายรอบหมู่บ้านอีกครั้งก่อนที่จะ เคลื่อนย้ายไปยังหมู่บ้านถัดไป หากว่าอยู่ใกล้เมืองก็จะพักในโรงแรมในตัวเมือง โดยมีเกณฑ์ในเวลา 1 เดือนจะต้องบริการให้ได้ 20 งาน นอกจากนั้นจะเป็นการฉายในงานมวลชนฉายตามงานวัดหรืองานบุญในแต่ละท้องที่
พนักงาน “หน่วยปลูกนิยม” ของบริษัทโอสภา เต็กเฮงหยู จำกัด ในอดีต
อย่างไรก็ตาม “หนังขายยา” ถือ ว่าเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความสามัคคีในชุมชน หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากภารกิจในท้องทุ่งได้รับชมหนังความบันเทิงได้ซื้อ สินค้าราคาถูก นับเป็นการสร้างชุมชนบันเทิงอย่างแท้จริง
นอกจากการบริการ “หนังขายยา” แล้วในยุคนั้นแล้วยังมี “หนังล้อมผ้า” ของบริการ ภาพยนตร์ต่าง ๆ โดยจะมีอุปกรณ์การฉายเหมือนกับหนังขายยา มาเปิดวิกฉายเก็บเงินในหมู่บ้าน รวมทั้งบริการหน่วยฉายหนังประจำจังหวัด หรือที่เรียกว่า “หน่วย ปจว.” นำภาพยนตร์ในแนวปลุกใจต่อต้านคอมมิวนิสต์ในชนบท มีภาพยนตร์ขาว – ดำ เรื่องดัง “เหตุเกิดที่บ้านโพนไฮ” มาฉายให้ชม รวมทั้งภาพยนตร์ขาว – ดำ ชุด “เพื่อมาตุภูมิ” ของรัชฟิล์ม เสียงในฟิล์มมีอดุลย์ ดุลยรัตน์ เป็นพระเอกนำ ถูกใจชาวบ้านทุ่งนักแล
หนังขายยาเริ่มหมดความนิยมภายหลังรอยต่อของหนังในยุค 35 มม. ส่วนหนึ่งก็จะมีหนัง “กลางแปลง” ที่ฉายในงานพิธีต่าง ๆ รวมทั้ง “หนังล้อมผ้า” ต่อมาพัฒนาเป็นงานสวนสนุกที่รวมความบันเทิงทุกรูปแบบทั้ง หมอรำ รำวง และภาพยนตร์ ประเภทซื้อบัตรครั้งเดียวดูได้ทุกอย่างสอดแจ้ง
หลังหมดยุคของ “หนังขายยา” ใน ยุคต่อมาบริษัทโอสถสภา จำกัด ยังคงมีการจัดกิจกรรมทางด้านความบันเทิง โดยมีการนำทั้งหนัง วิดีโอ และทีวี ไปฉายบริการสำหรับชุมชน รวมทั้งการรณรงค์ด้านสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น โครงการสุขาวดี โครงการมหกรรมภาพยนตร์ เพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายในสาธารณกุศล ซึ่งเริ่มต้นในปี 2539เป็นต้นมา
บรรยากาศการฉายหนังขายยาในอดีต
ภายหลังความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านหันมาชมโทรทัศน์ ซึ่งเป็นความบันเทิงราคาถูกในครอบครัว รวมทั้งการเข้ามาของระบบวิด๊โอ และระบบวีซีดี ทำให้หมดยุคของ “หนังขายยา” และ “หนังกลางแปลง” ทำ ให้บริษัท และห้างขายยาต่าง ๆ เลิกการประชาสัมพันธ์สินค้าทางบริการหน่วยขายยา หันมาประชาสัมพันธ์ทางสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว
รถฉายหนังขายยา......... เก่าของแท้ ! สมัยสงครามโลกครั้งที่2
ผู้ดูแล ใจดีมากมาก ประกอบให้ดูเลยว่าเค้าทำกันอย่างไรถึงวิธีการใส่ฟิล์ม
ในอดีต....รถคันนี้ได้เร่ตระเวณขายยาไปเกือบทั่วประเทศไทยจนชำรุดทรุดโทรม
และปลดระวาง ไปในช่วงปี ๒๕๒๐...........
ปัจจุบัน..... รถได้ถูกนำมาไว้ที่หอภาพยนต์แห่งชาติ กรมศิลปากร , ศาลายา ผู้ดูแล
ได้พยายามหาช่าง และ อู่ซ่อมแซมรถคันนี้ จนสามารถใช้งาน แล่นไปไหนมาไหนได้ในที่สุด
เมื่อย้อนรอยอดีต เราต่างไม่รู้ไม่เห็นอะไรอีกมากมายของเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาในยุคสมัย
ขอบคุณผู้ที่ รักษ์มรดกของไทย เพื่อเหล่าอนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้สืบต่อกันไป
ที่มา:
http://board.postjung.com/655063.html