คนโคราชบ้านเอ็ง ไม่ต้องเกรงใจกัน มีประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน หนึ่งในคนไทยที่มีชาติพันธุ์อยู่แถบนี้มาอย่างยาวนานโดยไม่ได้เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเถือกเขาอัลไต (จากหนังสือ "โคราชของเรา") คนโคราชมีนามสกุลซึ่งบ่อบอกชัดเจนว่า ถ้าเป็นลูกหลานเชื้อสายโคราช ก็จะมีนามสุกลแนวนี้ให้สังเกตได้อย่างชัดเจน มาดูกันเลยครับว่านามสกุลคนโคราชมีอย่างไรบ้าง (แฮปปี้โคราชดอทคอม ขอนำมาเผยแพร่ต่อให้ได้ความรู้กันครับ)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชบัญญัติ ขานนามสกุลขึ้น ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 โดยทรงมีพระราชประสงค์เพื่อให้นามสกุลเป็นหลักของการสืบเชื้อสายต่อเนื่องกัน ทางบิดาผู้ให้กำเนิดเป็นศักดิ์ศรี และแสดงสายสัมพันธ์ ในทางร่วมสายโลหิตของบุคคล นามสกุล ก่อให้เกิดความเป็นหมู่คณะ ส่งเสริมความรักความสามัคคี ระหว่างเครือญาติ ตั้งแต่คนชั้นสูงตลอดชั้นต่ำทั่วไป
นามสกุล เปรียบเสมือนคุณลักษณะ ของบุคคลแต่ละเผ่าพันธุ์ ส่วนมาก มักสร้างแนวจูงใจ ผู้เป็นเจ้าของนามสกุล ตลอดเครือญาติในสกุล ให้สำนึกในความดีชั่ว ให้เกิดความนิยมในอันที่ดำเนินชีวิต เจริญรอยตามวิชาชีพ และความมีชื่อเสียง อันเป็นที่มาแหล่งมงคลนาม ของบรรพบุรุษผู้ต้นตระกูลนานสกุลนั้น เป็นประดุจธงชัยเฉลิมศักดิ์ศรี ของคนในสกุลใคร ๆ ก็ย่อมเชิดชู และระมัดระวัง ที่จะไม่ให้มีมลทินเสื่อมเสีย เป็นวิธีป้องกันความชั่วช้า ที่จะเกิดแก่หมู่คณะ ได้เป็นอย่างดีในทางอ้อม คงจะเห็นอยู่บ่อย ๆ ที่ใครประพฤติปฎิบัติชั่วร้ายเลวทราม ก็มักจะถูกตราฆ่าชื่อ ถึงถูกขับไล่ไม่ให้ใช้สกุลร่วมกันก็เคยมี
เมื่อพระราชบัญญัติขนานนามสกุลได้ประกาศใช้แล้วคนไทยต่างก็คิดหานามสกุลของตน บ้างขอพระราชทานนามสกุล และบ้างก็ช่วยกันคิดตั้งขึ้นเอง บางนามสกุลได้มาจากชาติกำเนิด บางทีก็มาจากอาชีพที่ประกอบอยู่ นามสกุลคนโคราช มีนามสกุลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทาน อาทิ อินทโสฬส อินทะกนก อินทรกำแหง วัชระคุปต์ เหมนิธิ ชาตะวราหะ ชาตยานนท์ ศุกระสูยะ รัตนเนนย์ จิตะสมบัติ (ขอพระราชทาน) เป็นต้น
การนำบรรดาศักดิ์มาตั้งเป็นนามสกุลก็มี เช่น วิโรจน์จรรยา สุบงกช คงฤทธิ์ศึกษากร
คนโคราชนิยมตั้งนามสกุลตามภูมิลำเนาที่เกิด หรือที่อยู่อาศัยใช้ชื่อตำบล อำเภอ หรือหมู่บ้าน เป็นส่วนท้ายของนามสกุล เช่น งามกระโทก คำว่า กระโทกที่อยู่ส่วนท้ายนั้นบอกให้รู้ว่าบุคคลนั้น คือคนที่มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอโชคชัยที่เดิมเรียกว่า กระโทก
นามสกุลที่อยู่ตอนต้นอาจได้มาโดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
นำชื่อปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พ่อ แม่ ของตนมาตั้งเป็นส่วนต้น แล้วต่อด้วยชื่อหมู่บ้านหรือ ตำบล อำเภอ เช่น ปู่ชื่อพรม บ้านอยู่บ้านพะเนาว์ จะได้นามสกุลว่า พรมพระเนาว์
ตั้งจากกิริยาอาการของบุคคล ผู้ที่จะขอนามสกุล เช่นเดินางร่มเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ ผู้ออกใบสำคัญตั้งนามสกุลให้ ภูมิลำเนาอยู่บ้านสูงเนิน เจ้าหน้าที่จะตั้งนามสกุลให้ว่า ร่มสูงเนิน
ตั้งตามลักษณะเฉพาะ หรือ เอกลักษณ์ประจำตัวของผู้ที่จะขอนามสกุลเช่น นายจันทน์ ไปไหนชอบถือจอบ จนชาวบ้านเรียกทั้งชื่อตัว และลักษณะประจำตัวว่า จันทน์จอบ เมื่อไปขอนามสกุล เจ้าหน้าที่ทราบว่าอยู่ตำบลโพธิ์กลาง ก็จะได้นามสกุลว่า จอบโพธิ์กลาง
ตั้งตามเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่คิดถึงต้นไม้ ก็จะนำส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้เช่น กิ่ง ใบ ดอก ผล ราก มาตั้งเป็นส่วนตัวของนามสกุล ต่อท้ายด้วยถิ่นที่อยู่ลงไปเป็น กิ่งกระโทก ใบกลาง ดอกจันทึก ผลสันเทียะ รากพุดซา เป็นต้น
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างนามสกุลของคนโคราช
1. อำเภอเมือง
ตำบลในเมือง คำลงท้าย ในเมือง ตัวอย่าง ก้อนในเมือง งามในเมือง ล้อมในเมือง เถียรในเมือง ชำนาญเมือง ถนอมโพธิ์กลาง
ตำบลโพธิ์กลาง คำลงท้าย โพธิ์กลาง ตัวอย่าง เวชโพธิ์กลาง เลิศโพธิ์กลาง ตังโพธิ์กลาง
ตำบลหัวทะเล คำลงท้าย ทะเล ตัวอย่าง จาบทะเล พุดทะเล สาทะเล หาญทะเล เกิดทะเล โยงทะเล
ตำบลมะเริง คำลงท้าย มะเริง ตัวอย่าง จอมมะเริง ศรีมะเริง เรืองมะเริง
ตำบลพุดซา คำลงท้าย พุดซา ตัวอย่าง ดีพุดซา ใบพุดซา รากพุดซา
ตำบลพลกรัง คำลงท้าย พลกรัง ตัวอย่าง สดพลกรัง เดชพลกรัง นพพลกรัง ด้วงพลกรัง สว่างพลกรัง ประเสริฐพลกรัง
ตำบลปรุใหญ่ คำลงท้าย ปรุ ตัวอย่าง ศรีปรุ สินปรุ บรรจงปรุ เข็มทองปรุ
ตำบลบ้านใหม่ คำลงท้าย ใหม่ ตัวอย่าง สกุลใหม่ ใสใหม่ ฤทธิ์ใหม่ ปานใหม่ นามใหม่
ตำบลโคกสูง คำลงท้าย โคกสูง ตัวอย่าง แววโคกสูง ร่มโคกสูง โนนโคกสูง ถิ่นโคกสูง ดาวโคกสูง ฝ่ายโคกสูง สูบโคกสูง กลิ่นโคดสูง
ตำบลจอหอ คำลงท้าย จอหอ เช่น เกิดจอหอ แก้วจอหอ ภักดีจอหอ ผันจอหอ นิลจอหอ
ตำบลบ้านโพธิ์ คำลงท้าย โพธิ์ ตัวอย่าง บ้านโพธิ์ ยุ้งชมโพธิ์ อยู่โพธิ์ นอนโพธิ์ แก้วโพธิ์
ตำบลบ้านโคกกรวด คำลงท้าย โคกกรวด ตัวอย่าง ชมโคกกรวด เขาโคกกรวด โมโคกกรวด ดีโคกกรวด
ตำบลบ้านเกาะ คำลงท้าย เกาะ ตังอย่าง จำเกาะ จอมเกาะ ในเกาะ แจบเกาะ
ตำบลหมื่นไวย คำลงท้าย หมื่นไวย ตัวอย่าง อินโมหมื่นไวย แจ้งหมื่นไวย ในหมื่นไวย พงษหมื่นไวย ศรีหมื่นไวย จูหมื่นไวย เหล็กหมื่นไวย
ตำบลพะเนาว์ คำลงท้าย พะเนาว์ ตัวอย่าง จันขาวพะเนาว์ ดีนวลพะเนาว์ เสือมาพะเนาว์
ตำบลหนองจะบก คำลงท้าย จะบก ตัวอย่าง ไกรจะบก เจริญจะบก โคกจะบก แย้มจะบก
2. อำเภอปักธงชัย
ตำบลเมืองปัก คำลงท้าย เมืองปัก ตัวอย่าง ชุ่มเมืองปัก ฉัตรเมืองปัก ร่มเมืองปัก ฉ่ำเมืองปัก เคลื่อนเมืองปัก
ตำบลตะคุ คำลงท้าย ตะคุ ตัวอย่าง เลิศตะคุ เจริญตะคุ แสงตะคุ
ตำบลตะขบ คำลงท้าย ตะขบ ตัวอย่าง บนตะขบ งามตะขบ ลอยตะขบ
ตำบลงิ้ว คำลงท้าย ฉิมพลี ตัวอย่าง แววฉิมพลี ผลฉิมพลี ใจฉิมพลี โรจน์ฉิมพลี
ตำบลบ้านตูม คำลงท้าย พรหมราช ตัวอย่าง ขำพรหมราช เดชพรหมราช
ตำบลสะแกราช คำลงท้าย กิ่ง ตัวอย่าง ไฝกิ่ง ระวังกิ่ง รวยกิ่ง ดีกิ่ง
ตำบลดอน คำลงท้าย ดอน ตัวอย่าง ขอดอน นอดอน บินดอน ไกลดอน แขดอน
ตำบลสำโรง คำลงท้าย สำโรง ตัวอย่าง เชยสำโรง งามสำโรง ดีสำโรง
บ้านจาโป๊ะ คำลงท้าย จะโป๊ะ ตัวอย่าง ผันจะโป๊ะ ฉุนจะโป๊ะ สำราญจะโป๊ะ เกิดจะโป๊ะ
บ้านหนองผักแว่น คำลงท้าย ผักแว่น ตัวอย่างวิเวชผักแว่น สีผักแว่น กินผักแว่น แอมผักแว่น
บ้านจังหรีด คำลงท้าย จังหรีด ตัวอย่าง จิ๋วจังหรีด แอบจังหรีด ซิงจังหรีด
3. อำเภอโนนไทย
ตำบลสันเทียะ คำลงท้าย สันเทียะ เช่น โกนสันเทียะ ดอกสันเทีย หันสันเทีย บอนสันเทียะ ภาคสันเทียะ แก่นสันเทียะ ยีสันเทียะ
ตำบลค้างพลู คำลงท้าย ค้างพลู เช่น เกตุค้างพลู แป้งค้างพลูเงินค้างพลู แอบค้างพลู
ตำบลพังเทียม คำลงท้าย พังเทียม เช่น หลงพังเทียม งามพังเทียม ช้างพังเทียม ผิวพังเทียม
ตำบลด่านจาก คำลงท้าย ด่านจาก เช่น มณีด่านจาก ไหลด่านจาก โซด่านจาก แขด่านจาก
ตำบลสายออ คำลงท้าย สายออ เช่น เผ่าสายออ โลกสายออ ห่วงสายออ เงินสายออ
ตำบลกำปัง คำลงท้าย กำปัง เช่น เส็งกำปัง ใสกำปัง สุขกำปัง สว่างกำปัง
ตำบลพันดุง คำลงท้าย พันดุง เช่น โมพันดุง เกพันดุง เกิดพันดุง โตพันดุง
4. อำเภอสูงเนิน
ลงท้ายด้วยคำว่าสูงเนิน ทั้งหมด เช่น หวานสูงเนิน เกี้ยวสูงเนิน ไขสูงเนิน รอสูงเนิน เร้าสูงเนิน ศรสูงเนิน แจ้งสูงเนิน บัตรสูงเนิน เดชสูงเนิน ทิพย์สูงเนิน อาจสูงเนิน เชื่องสูงเนิน โบสูงเนิน สร้อยสูงเนิน เจริญสูงเนิน อ้นสูงเนิน โชติสูงเนิน
5. อำเภอสีคิ้ว
เดิมเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอจันทึกหรือเมืองจันทึกนามสกุลจึงลงท้ายว่า จันทึก เช่น แถวจันทึก แอบจันทึก โกฎิจันทึก ศรีจันทึก เหมจันทึก วงศ์จันทึก นามสกุลนี้แพร่ไปถึงปากช่องซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอจันทึก
6. อำเภอโชคชัย
เดิมชื่ออำเภอกระโทก ส่วนท้ายของสกุลจึงลงท้ายว่า กระโทก ที่อำเภอนี้มีลักษณะเฉพาะ ในการตั้งนามสกุล คือจะตั้งเรียงลำดับอกษร ตั้งแต่ ก ถึง ธ ตามระยะห่างจากตัวที่ว่าการอำเภอ เริ่มจาก ก ซึ่งอยู่ใกล้อำเภอที่สุด ถ้าใครมีนามสกุลเป็นอักษร ฮ เช่น ฮุยกระโทก แสดงว่าบ้านอยู่ ไกลจากตัวอำเภอสุดกู่ การตั้งนามสกุลเช่นนี้ ท่านว่ามีประโยชน์ สำหรับการปกครองพื้นที่ ตัวอย่างนามสกุล เช่น แหวนกระโทก กิ่งกระโทก ทองกระโทก เวยกระโทก มองกระโทก เหิมกระโทก ไฮกระโทก อิ่มกระโทก เพิ่มกระโทก ไหมกระโทก เกลี้ยวกระโทก พลูกระโทก ครึบกระโทก หวงกระโทก ชุ่มกระโทก จุ้ยกระโทก ไข่กระโทก แก้วกระโทก โตกระโทก ทินกระโทก นกกระโทก
7. อำเภอจักราช
ตำบลทองหลาง คำลงท้าย ทองหลาง เช่น ดีทองหลาง โลทองหลาง วายทองหลาง
ตำบลหนองงูเหลือม คำลงท้าย งูเหลือม เช่น ไปล่งูเหลือม บาทงูเหลือม เผื่อนงูเหลือม ดีงูเหลือม
ตำบลสีสุก คำลงท้าย สีสุก เช่น ขาวสีสุก วิไลสีสุก จันสีสุก
8. อำเภอพิมาย
คำลงท้าย พิมาย และการค้า ตัวอย่าง โชติพิมาย ทองพิมาย พงษ์พิมาย คู่พิมาย ชาวพิมาย เทียนพิมาย โครงพิมาย โกร่งพิมาย โตรำพิมาย หลงพิมาย กาญจนพิมาย การพิมาย นามพิมาย ค้าขาย ค้าคล่อง เก่งค้า สืบค้า
9. อำเภอด่านขุนทด
คำลงท้าย ขุนทด ชนะ และ โคกรักษ์ เช่น เมฆขุนทด เพียกขุนทด ใบขุนทด ไกรขุนทด นาคขุนทด ดิษขุนทด มากขุนทด บวดขุนทด เชยขุนทด พันชนะ เพียงชนะ ดีชนะ ภูมิโคกรักษ์ ใสโคกรักษ์
10. อำเภอโนนสูง (รวมอำเภอขามสะแกแสง)
เดิมเรียกว่าอำเภอกลาง ดังนั้นจึงมีคำลงท้ายนามสกุลว่า กลาง เช่น เล็กกลาง แนมกลาง หวังแอบกลาง มุ่งกลาง ขอแนบกลาง กางร่มกลาง ย่านกลาง อีกสกุลหนึ่งลงท้ายว่าจันอัด เช่น เจ๊กจันอัด ไกลจันอัด บัวจันอัด
11. อำเภอบัวใหญ่
เดิมเรียกอำเภอนอก ดังนั้นคำลงท้ายนามสกุลจึงใช้คำว่านอก เช่น ศรีนอก ดอนนอก กระโทกนอก สงนอก ปานนอก คอนนอก พิมลนอกโพธิ์นอก แก้วยางนอก เพลี่ยนอก พรหมนอก รายนอก ชิดนอก กิ่งนอก กระฉอดนอก
12. อำเภอครบุรี
ลงท้ายว่า ครบุรี เช่าน อาบครบุรี เสียวครบุรี พลอยครบุรี กลอนครบุรี เทียมครบุรี จรครบุรี
อำเภอที่เกิดใหม่ไม่มีการตั้งนามสกุลตามถิ่นที่อยู่คือ ปากช่อง ประทาย ชุมพวง คง ห้วยแถลง ขามสะแกแสง ขามทะเสสอ เสิงสาง บ้านเหลื่อม
ที่มา http://www.koratinfo.com/history/korat/lastname.htm และ http://pantip.com/topic/31032306