มีเพื่อนบล็อกเคยเอ่ยถึงท่านเจ้าเมืองนครราชสีมาคนสุดท้ายจึงได้ถามญาติผู้ใหญ่ที่รู้จักว่า รู้จักบ้านเจ้าเมืองนครราชสีมาหรือไม่ ท่านตอบว่าบ้านเจ้าเมืองอยู่ที่ถนนอัษฎางค์แถวใกล้ ๆ ร้านแสวงอุปกรณ์
ที่ประตูจะเขียนว่า " บ้านอินทโสฬส "
นามสกุลนี้เป็นนามสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าตากสิน เรื่องเล่าว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี กู้เอกราชชาติไทยได้จากพม่าและได้ปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ รวมทั้งชุมนุมเจ้าพิมาย สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีได้สถาปนายก ยกกระบัตรเมืองพิมายชื่อ ปิ่นซึ่งมีความชอบในการในการกู้ชาติและรวมชาติของพระองค์ เป็นเจ้าพระยานครราชสีมา นอกจากนั้นยังได้เป็นกองหน้าของพระเจ้าตาก ในสงครามปราบปรามเวียงจันทน์ได้รับชัยชนะ พร้อมกับได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเวียงจันทน์มาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรี เมื่ิอท่านผู้หญิงของเจ้าพระยานครราชสีมา ( ปิ่น ณ ราชสีมา ) ถึงแก่อนิจกรรมลง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระเมตตาและสงสาร จึงพระราชทานเจ้าหญิงยวน หรือ จวน ราชธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) เองก็ทราบว่าเจ้าหญิงยวนเป็นพระสนม และกำลังทรงครรภ์อยู่ด้วย หากจะไม่รับพระราชทานก็ไม่ได้ ก็จำต้องรับไว้ในฐานะแม่เมือง พอครบกำหนดทศมาสก็ประสูติพระราชโอรส
เจ้าพระยานครราชสีมา ( ปิ่น ณ ราชสีมา) บิดาบุญธรรม ได้ให้นามว่า “ทองอินทร์” หรือ “ทองอิน” เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) มีบุตรคือ เที่ยง ( ณ ราชสีมา ) ทัศน์ ... พระยาสุริยเดช ... สายสกุล รายณสุข
ในสมัยรัชการที่ 2 บุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา ( ปิ่น ณ ราชสีมา) ได้เป็นเจ้าพระยานครราชสีมา ( เที่ยง ณ ราชสีมา) ปลายรัชกาลที่ 2 ทองอินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา แทนพี่ชาย ( เที่ยง )
เจ้าพระยานครราชสีมา ( ทองอิน ) สมรสกับท่านผู้หญิงทับทิม ธิดาพระยาสุริยเดช ( ทัศน์ รายณสุข ... บุตร ปิ่น ณราชสีมา ) มีบุตรชื่อ
1.ทองคำ( ศัลย์วิชัย หุ้มแพร ) ธิดาของท่านคือเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ในรัชกาลที่ 4 พระมารดาของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นสกุลทองใหญ่ ผู้ก่อตั้งจังหวัดอุดรธานีและ สมเด็จพระองค์เจ้าสรรพศาสตร์ศุภกิจ ต้นสกุล ทองแถม
2.ทองก้อน
เมื่อท่านผู้หญิงทับทิมถึงแก่กรรม เจ้าพระยานครราชสีมา ( ทองอิน ) สมรสกับท่านผู้หญิงบุนนาค ธิดาเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) น้องสาวของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)และกับภรรยาอื่น ๆ รวมทั้งหมดท่านมีบุตร 50 ท่าน
ในลำดับที่ 23 คือพระยาสุริยเดช ( โสฬส อินทโสฬส ) ภรรยาท่านคือ ท่านผู้หญิงบุนนาค มีบุตรสาว 3 ท่าน บุตรชายคนเดียวชื่อ ทองดี อินทโสฬส
ท่านทองดี อินทโสฬส สมรสกับ คุณทวดนกเอี้ยง บุตรชายคนที่สามของท่านคือ พระยากำธรพายัพทิศ ดิส อินทโสฬส เจ้าเมืองนครราชสีมาคนสุดท้าย
ท่านดิส อินทโสฬสได้รับราชการ ท่านเป็นนายอำเภอกลางคนแรก ในปี 2442 อำเภอกลาง เป็นชุมชนที่กึ่งกลางระหว่าง อำเภอเมือง ซึ่งเป็นเขตชั้นใน กับแขวงบัวใหญ่ ปัจจุบันคืออำเภอโนนสูง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชบัญญัติ ขานนามสกุลขึ้นในปี 2455 ประกาศใช้ปี 2456 คนในอำเภอนี้จึงลงท้ายนามสกุลว่า กลาง
ภาพจากย้อนรอย ๑๐๐ ปีโคราชวาณิช ว่าเป็นจวนเก่า ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าอยู่ที่ตำแหน่งไหนของโคราช
แผนที่ ณ ตำแหน่งที่เล่ามาคือ
เคยเป็นที่ตั้งเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา หรือศาลากลางเก่า เมื่อย้ายศาลากลางไปในตำแหน่งปัจจุบัน คือตะวันตกเฉียงใต้ในเขตกำแพงเมือง โรงเรียนวัดกลางย้ายเข้ามาอยู่แทนที่ศาลากลาง เป็นโรงเรียนราชสีมา เมื่อโรงเรียนราชสีมาย้ายออกไปตั้งที่จิระ ครูศิริ ไกรฤกษ์ได้เช่าที่ตั้งเป็นโรงเรียนศิริวิทยากรภายหลังโรงเรียนศิริวิทยากรเลิกไป ปัจจุบันคุณถาวร ได้เช่าที่แห่งนี้ทำเป็นโรงเรียนรวมมิตร แทนโรงเรียนเดิมที่ถูกไฟไหม้
ปี 2477 กู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดกลาง(วัดพระนารายณ์มหาราช) ทรุดโทรมลง ทั้งที่อยู่ในที่คับแคบไม่สง่างามสมเกียรติ
พระยากำธรพายัพทิศ ( ดิส อินทโสฬส ) และ พันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร(ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 ท่านเป็นน้องเขยของพระยากำธรพายัพทิศ
พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีด้วยทองแดง นำอัฐิท่านมาบรรจุไว้ในฐานรองรับสร้างเสร็จประดิษฐานไว้ ณ ประตูชุมพล
พระยากำธรพายัพทิศ
ท่านสมรสกับคุณหญิง คุณหญิงมาลี มีบุตรสาวคนเดียว
ในปี 2498 พระยากำธรพายัพทิศ ได้เข้าอุปสมบทที่วัดทุ่งสว่าง
ท่านนอกจากได้บริจาคที่ดินให้วัดแล้ว ยังได้สร้างพระอุโบสถขึ้นมาใหม่ แทนโบสถ์เก่าที่ทรุดโทรม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2499
ตอนไปถ้ายภาพ โบสถ์นี้ก็เพิ่งทาสีใหม่
ท่านบวชอยู่จนมรณะภาพ ปี 2531 คุณหญิงมาลีได้การสร้างศาลาการเปรียญ อุทิศแด่คุณแม่นกเอี้ยง และพระรัตนโตโชภิกขุ
ขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tuk-tukatkorat&month=04-2011&date=27&group=40&gblog=35
พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทโสฬส ณ ราชสีมา) เจ้าเมืองนครราชสีมาคนสุดท้าย
(ปลัดมณฑล ทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลำดับที่ 14 ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 2 พ.ย. 2476 - 1 มี.ค. 2479)
ประวัติ
ต้นตระกูลพระยากำธรพายัพทิศ สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าตากสินมหาราช โดยท่านเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของคุณทองดี และคุณนกเอี้ยง อินทโสฬส (ท่านเจ้าคุณดิศ เป็น ณ ราชสีมา ชั้นที่ 5)
ท่านเจ้าคุณดิศ เป็นเหลนของเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอินท์ ณ ราชสีมา) มีศักดิ์เป็นหลานชาย/หลานปู่ของ พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (คุณชายโสฬส อินทโสฬส ณ ราชสีมา ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 23 ของเจ้าพระยานครราชสีมา/ทองอินท์ ณ ราชสีมา คุณชายโสฬสฯ เป็นบุตรที่เกิดแต่ ท่านผู้หญิงบุนนาค ณ ราชสีมา หรือ สิงหเสนี /น้องสาวคนสุดท้องของ เจ้าพระยาบดินทรเดชา /สิงห์ สิงหเสนี แม่ทัพใหญ่ในรัชกาลที่ 3)
เจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอินท์ ณ ราชสีมา) เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายลำดับที่ 30 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติในเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงญวน พระราชธิดาของพระเจ้าขัตติยะราชนิคมสมมติมไหสวรรย์/พระเจ้านครศรี ธรรมราช(หนู ณ นคร)
คู่สมรส - คุณหญิงมาลี กำธรพายัพทิศ
การศึกษา - รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รุ่นก่อนแพแตก)
การทำงาน
- พ.ศ. 24xx นายอำเภอกลางคนแรก เป็นชุมชนที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง อำเภอเมือง ซึ่งเป็นเขตชั้นใน กับแขวงบัวใหญ่ ปัจจุบันคืออำเภอโนนสูง
- พ.ศ.2475 - 2476 ปลัดมณฑลประจำจังหวัดลำปาง (ผู้ว่าราชการจังหวัด)
- 10 พ.ย. พ.ศ. 2476 - 2479 ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา (ในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลประกาศยุบมณฑลให้เป็นจังหวัด)
- 2 มี.ค. 2479 - 18 เม.ย. 2482 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
- พ.ศ. 2498 อุปสมบทที่วัดทุ่งสว่าง มีนามว่า รตนฺโชโต ภิกขุ
- พ.ศ. 2499 ได้มาศึกษาธรรมะร่วมกับหลวงพ่อเปลี่ยน มหาวีโร พร้อมสามเณรอีกหลายรูป ที่วัดเขาพญาปราบ ต่อมาพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระยากำธร พายัพทิพย์ ได้อาพาธ และได้นำมารักษาที่โรงพยาบาลนครราชสีมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา) และถึงแก่มรณภาพที่โรงพยาบาลนครราชสีมา
ผลงานที่โดดเด่น
เป็นผู้ริเริ่มการจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีร่วมกับพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 และชาวเมืองนครราชสีมา ในการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งหล่อด้วยทองแดง และนำอัฐิของท้าวสุรนารี มาประดิษฐานไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ ณ ปัจจุบัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ 5 วิจิตราภรณ์
.
ข้อมูลจาก - สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา และ huexonline.com
-----------------------------
รายนามเจ้าเมืองนครราชสีมา (ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคกรุงศรีอยุธยา ถึง สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยุครัตนโกสินทร์)
- พระยายมราช (สังข์) - สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา
- พระยานครราชสีมา (ตำแหน่ง) - มีหลายคน จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
- พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) - สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
- เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) - เป็นต้นสกุลที่ใช้ร่วมกันมาแต่เดิมคือ "ณ ราชสีมา"เฉยๆและอีก 5สกุลคือ รายณสุข กาญจนพิมาย พรหมนารท อธินันทน์ เมนะรุจิ
- พระยากำแหงสงคราม (บุญคง กาญจนาคม) - ปลายสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ)เป็นต้นสกุล กาญจนาคม
- พระยานครราชสีมา (เที่ยง ณ ราชสีมา บุตรเจ้าพระยานครราชฯปิ่น ) - สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (ร.1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา)พระราชโอรสองค์สุดท้ายที่ 30 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช - สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ถึงสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3)
- พระยานครราชสีมา (เมฆ ณ ราชสีมาบุตรชายของเจ้าพระยานครราชฯทองอินท์ ณ ราชสีมา) - สมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4)
- พระยากำแหงสงคราม (จัน ณ ราชสีมา หรือ อินทรกำแหง เหลนชายของ เจ้าพระยานครราชสีมา/ทองอินท์ ณ ราชสีมา) - เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5)
- พระยากำแหงสงคราม (กาจ สิงหเสนี เป็นหลานชาย ของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา/สิงห์ สิงหเสนี และเป็นหลานชายของเจ้าพระยานครราชสีมา ทองอินท์ ณ ราชสีมา เช่นกัน) - รศ.115 - 120 (พ.ศ. 2439 - 2444)
- พระรังสรรค์สารกิจ (เลื่อน ศรีเพ็ญ) - รศ.120 - 123 (พ.ศ. 2444 - 2447)
- พระยาสุริยเดช (จาบ สุวรรณทัต) - รศ.123 - 124 (พ.ศ. 2447 - 2448)
- พระยาวรชัยวุฒิกร (เลื่อง สนธิรัต) - รศ.124 - 125 (พ.ศ. 2448 - 2449)
- พระบรมราชบรรหาร (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) - รศ.125 - 129 (พ.ศ. 2449 - 2453)
- พระไชยนฤนาท (ทองดี) - รศ.129 - 131 (พ.ศ. 2453 - 2455)
- พระเทพราชธานี (โหมด ชลายนคุปต์) - พ.ศ. 2455 - 2456
- พระยศสุนทร (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) - พ.ศ. 2456 - 2458
- พระยาสุริยราชวราภัย (จร รัตนบิณฑะ) - พ.ศ. 2458 - 2460
- พ.ต.พระยาบรมราชบรรหาร (เย็น ภะระมรทัต) - พ.ศ. 2460 - 2465
- พระยานครราชเสนี (สหัส สิงหเสนี) เป็นเหลนชายของบุตรชายท่านหนึ่งของเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอินท์ ณ ราชสีมา อีกเช่นกัน) - พ.ศ. 2465 - 2471 (เหลนของ พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย/คุณชายโสฬส อินทโสฬส ณ ราชสีมา (บุตรชายของเจ้าพระยานครราชสีมา/ทองอินท์ ณ ราชสีมา)
- พระยาพิริยะพิชัย (เทียบ สุวรรณนิน) - พ.ศ. 2471 - 2474
- พระยานายกนรชร (เจริญ ปริยานนท์) - พ.ศ. 2474 - 2476
- พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทโสฬส ณ ราชสีมา เป็นเหลนชายของ เจ้าพระยานครราชสีมา /ทองอินท์ ณ ราชสีมา ) - 2 พ.ย.2476 - 1 มี.ค.2479
.
ข้อมูลจาก - เพจ เจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอินท์ ณ ราชสีมา)
ภาพจาก - tuk-tuk@korat>