สุดยอดขนาดกับซาลาเปา หน้าตาสวยงาม ยังกับไม่ใช่ของกิน แต่เผอิญมันกินได้และอร่อยเสียด้วย จำหน่ายหลายจุด พร้อมรับตัวแทนจำหน่ายในแต่ละอำเภอของโคราชด้วยนะจ๊ะ
สนใจโทร 084-830-4737
ความรู้เพิ่มเติม
ซาลาเปา พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยามว่า "ชื่อขนมชนิดหนึ่งของจีน ทำด้วยแป้งสาลีปั้นเป็นลูกกลม ข้างในใส่ไส้ มีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม"
ซาลาเปา เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่งทำมาจากแป้งสาลีและยีสต์ และนำมานึ่ง ซาลาเปาจะมีไส้อยู่ภายในโดยอาจจะเป็นเนื้อหรือผัก ซาลาเปาที่นิยมนำมารับประทานได้แก่ ซาลาเปาไส้หมู และ ซาลาเปาไส้ครีม สำหรับอาหารที่มีลักษณะคล้ายซาลาเปา ที่ไม่มีไส้จะเรียกว่า หมั่นโถว นอกจากนี้ซาลาเปายังคงเป็นส่วนหนึ่งในชุดอาหารติ่มซำ ในวัฒนธรรมจีน ซาลาเปาสามารถนำมารับประทานได้ในทุกมื้ออาหาร ซึ่งนิยมมากในมื้ออาหารเช้า
ซาลาเปาทำไมถึงมีจุดสีแดง
ที่ต้องแต้มจุดสีแดงตรงกลางลูกซาลาเปา เพราะว่าคนจีนเชื่อว่าสีขาวล้วนซึ่งเป็นสีของแป้งซาลาเปานั้นไม่เป็นมงคล เพราะสีขาวล้วนเป็นสีของการไว้ทุกข์ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้จึงมีการแต้มจุดสีแดงซึ่งเป็นสีของความมงคลตามความเชื่อของจีนนั้นลงไปบนลูกซาลาเปา
ความเป็นมาของ ซาลาเปา และหมั่นโถว
ย้อนหลังไปประมาณปี พ.ศ. ๗๖๘ เมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน (โอรสพระเจ้าเล่าปี่) เสวยราชย์ ณ อาณาจักรจ๊กก๊ก (ก๊กหนึ่งในสามก๊ก) หรืออาณาจักรเสฉวน ยงคี,จูโพ และ โกเตง ผู้ครองสามเมืองทางใต้ของอาณาจักรจ๊กก๊ก เป็นกบฏ ไปคบคิดกับ "เบ้งเฮ๊ก" เจ้าเมืองมันอ๋อง ยกทัพมาตีชายแดนทางใต้ของอาณาจักรเสฉวน ดังนั้น "ขงเบ้ง" จึงต้องยกทัพไปปราบปรามในการไปทำศึกครั้งนี้ ขงเบ้งต้องการทรมาน ให้ "เบ้ง เฮ็ก" ยอมศิโรราบแต่โดยดี ไม่คิดกลับใจมารุกรานอาณาจักรเสฉวนอีก
เมื่อจับเบ้งเฮ็กได้จึงปล่อยไปถึง ๖ ครั้ง พอครั้งที่ ๗ เมื่อจับเบ้งเฮ็กได้อีก เบ้งเฮ็กก็ยอมศิโรราบให้กับขงเบ้งเมื่อได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว ขงเบ้งก็ยกทัพกลับเสฉวน เบ้งเฮ็กและชาวเมืองก็ตามมาส่ง พอถึงแม่น้ำลกซุย (หลูซุ่ยหรือแม่น้ำจินซาเจียงในปัจจุบัน) ก็เกิดอาเพศ สำนวนสามก๊กเขียนว่า "ในแม่น้ำนั้นมืดเป็นหมอกจะข้ามไปนั้นขัดสน" ขงเบ้งจึงถามเบ้งเฮ็กว่า "เหตุผลทั้งนี้เป็นประการใด" เบ้งเฮ็กจึงตอบว่า "อันแม่น้ำนี้มีปีศาจสำแดงฤทธิ์ แต่ก่อนมาก็เคยเป็นอยู่ ขอให้ท่านเอาศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะ กับม้าเผือกกระบือดำมาเซ่นบวงสรวงจึงจะหาย"ขงเบ้งจึงว่า "เราทำศึกกับท่านจนสำเร็จการ แผ่นดินราบคาบถึงเพียงนี้ คนแก่คนหนึ่งก็มิตายเพราะมือเรา บัดนี้กลับมาถึงแม่น้ำลกซุยจะเข้าแดนเมืองอยู่แล้ว จะมาฆ่าคนเสียนั้นไม่ชอบ"ขงเบ้งจึงให้หาชาวบ้านมาสืบถามได้ความว่า เมื่อตนเองยกทัพข้ามแม่น้ำนี้ไป ก็เกิดเหตุทุกวัน คือเวลาพลบค่ำไปจนสว่าง จะมีเสียงปีศาจร้องอื้ออึง มีหมอกควันเป็นอันมากขงเบ้งจึงว่า "เหตุทั้งนี้เพราะโทษของตัวเราเอง เมื่อครั้งเราให้ม้าต้ายคุมทหารพันหนึ่งยกมานั้น ทหารทั้งปวงก็ตายอยู่ในแม่น้ำนี้สิ้น แล้วเมื่อทำศึกอยู่นั้น ทหารเบ้งเฮ็กก็ล้มตายอยู่ในที่นี้เป็นอันมาก ปีศาจทั้งปวงผูกเวรเราจึงบันดาลให้เป็นเหตุต่างๆ เราจะคิดอ่านทำการคำนับให้หายเป็นปรกติจงได้"
ขงเบ้งจึงสั่งให้ทหารฆ่าม้าเผือกกระบือดำ แล้วเอาแป้งมาปั้นเป็นศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะ พอเวลากลางคืนก็ยกออกไปตั้งไว้ริมน้ำ จุดธูปเทียนและประทีปสี่สิบเก้า แล้วแต่งหนังสืออ่านบวงสรวงเป็นใจความว่า"บัดนี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนครองราชสมบัติได้สามปี มีรับสั่งใช้เราผู้เป็นมหาอุปราชให้ยกทหารมาปราบปรามข้าศึกต่างประเทศ เราก็ตั้งใจสนองพระคุณความสัตย์ตั้งใจมา กับเราหวังจะทำนุบำรุงพระเจ้าเล่าเสี้ยน ยังไม่ทันสำเร็จท่านตายเสียก็มีบ้าง ท่านทั้งปวงจงกลับไปเมืองกับเราเถิด ลูกหลานจะได้เซ่นคำนับตามธรรมเนียม เราจะกราบทูลพระจ้าเล่าเสี้ยน ให้พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่สมัครพรรคพวกพี่น้องท่านให้ถึงขนาด ฝ่ายทหารเบ้งเฮ็กซึ่งตายอยู่ในที่นี้ก็ดี ให้เร่งหาความชอบอย่ามาวนเวียนทำให้เราลำบากเลย จงคิดถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนซึ่งครองราชสมบัติเป็นธรรมประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน แลเห็นแก่เราผู้มีความสัตย์ จงรับเครื่องเซ่นเราแล้วกลับไปอยู่ถิ่นฐานเถิด"เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว ขงเบ้งก็จุดประทัดตีม้าล่อแล้วร้องไห้รักทหารซึ่งตายนั้นเป็นอันมาก แลพายุและคลื่นละลอกซึ่งเกิดนั้นก็สงบเป็นปรกติ ขงเบ้งจึงยกทัพกลับไปเมืองเสฉวนได้ สมัยนั้นชนพื้นเมืองทางใต้ของอาณาจักรเสฉวน เรียกพวกของตนเองว่า พวก "หนานหมาน หรือหนันหมัน"
แป้งปั้นแทนศีรษะคนแล้วนำไปนึ่ง ถูกเรียกว่า "หม่านโถว" แปลว่า "หัวของชาวหนานหมาน" และเนื่องจากคำเรียกในภาษาจีนดั้งเดิมฟังดูโหดร้ายเกินไป ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรที่บ่งชี้ว่าเป็นอาหารแทนตัวอักษรที่หมายถึงพวกหนานหมัน อย่างเช่นในอดีต
คำว่า "หม่านโถว" นานเข้าก็แผลงเป็น "หมั่นโถว " และทำตกทอดกันมาจนแพร่หลายไปทั่ว โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ได้กลายมาเป็นอาหารที่ชาวจีนเหนือนิยมรับประทานกันเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่าง คนจีนทางภาคเหนือนิยมเรียก "เปาจึ"หรือ"ซาลาเปา"
เรียบเรียงโดย Sanook! Guru