ตามดูผลวิจัย 'ไก่เนื้อโคราช' อีกอาชีพคนเกษตร'กันทรวิชัย' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร :โดย...ธานี กุลแพทย์
จากความมุ่งมั่นของ 4 องค์กร กรมปศุสัตว์ หน่วยงานภาครัฐซึ่งดูแลรับผิดชอบด้านปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ผู้รังสรรทีมงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หน่วยสนับสนุนเงินทุน และกลุ่มทำนาลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พื้นที่นำร่องวิจัยในโครงการ "สร้างสายพันธุ์เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชน" ได้นำมาซึ่งการต่อยอดสร้างอาชีพให้ชุมชนในท้องถิ่นที่สนใจ
"ท่องโลกเกษตร" สัปดาห์นี้มีโอกาสร่วมคณะทีมผู้วิจัย นำโดย ดร.อมรรัตน์ โมฬี สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ มทส. พร้อม รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผอ.ฝ่ายเกษตร สกว.ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์ หรือไก่เนื้อโคราช ระหว่างสถาบันเกษตรกรใน จ.มหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ณ โรงเรียนกันทรวิชัย อ.กัณทรวิชัย จ.มหาสารคาม
ดร.อมรรัตน์ โมฬี หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เวลา 3 ปี เป็นการนำไก่สายพันธุ์ มทส. แม่ไก่เนื้อที่มีคุณสมบัติผลิตไข่ได้ 180 ฟองต่อตัวต่อปี มาผสมกับไก่พ่อพันธุ์พื้นเมืองเหลืองหางขาวกบินทร์บุรี ได้เป็น "ไก่เนื้อโคราช" ที่โดดเด่นเหนือกว่าไก่พื้นเมือง คือใช้เวลาเลี้ยง 65-70 วัน จะได้ไก่น้ำหนัก 1.2-1.3 กก.ต่อตัว ขณะที่เนื้อไก่มีรสชาติอร่อย ที่สำคัญมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่เนื้อถึง 3 เท่า อีกทั้งใช้ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ เนื่องจากแต่ละตัวจนถึงจับขายได้ ใช้อาหารไม่เกิน 3 กก.
"งานวิจัยนี้เราได้ร่วมกับกลุ่มทำนาลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว เป็นแหล่งผลิตพันธุ์ไก่เนื้อโคราช ถึงขณะนี้กำลังการผลิตแต่ละรุ่นยังไม่มาก เพียง 4,000-5,000 ตัว ทว่าด้วยความต้องการของเกษตรกรมีสูง และผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เราจึงมีเป้าหมายผลิตให้ได้ 4 หมื่นตัวในเร็ววันนี้"
อาภรณ์ ภูมิประหนัน ผจก.สหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย ตัวแทนสถาบันเกษตรกร จ.มหาสารคาม ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกกว่า 4.000 คน มีเงินทุนหมุนเวียนแต่ละปีกว่า 23 ล้านบาท ได้ส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่สมาชิกเพื่อสร้างรายได้เสริมหลังฤดูทำนา รวมทั้งการสนับสนุนเลี้ยง "ไก่เนื้อโคราช" ที่เริ่มต้นปี 2555 เป้าหมายเพื่อเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 และสมาชิกผู้สนใจ โดยที่สหกรณ์เป็นผู้ช่วยเหลือด้านเงินทุน อาหารเลี้ยง ฯลฯ ในรูปการกู้ดอกเบี้ยต่ำสุดๆ
"สหกรณ์ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทาง มทส. ทั้งเรื่องการถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยง แปรรูป การตลาด รวมทั้งคอยติดตามผล ร่วมแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นแก่สมาชิก บวกกับเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ส่งผลให้เกษตรกรประสงค์ที่จะเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น" ผจก.สหกรณ์แจง พรัอมระบุว่า แม้จะมีเกษตรกรจองคิวเข้าร่วมโครงการกันมาก ทว่า สหกรณ์ได้จำกัดสมาชิกผู้เลี้ยงเพียงแค่ 10 ราย เนื่องจากได้รับลูกไก่จาก มทส.เพียงรุ่นละ 1,200-2,000 ตัว
มนิต เจตมาลา เกษตรกร บ้านลาด เลขที่ 1 หมู่ 24 ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย บอกว่าด้วยต้องการมีอาชีพเสริมหลังฤดูทำนา จึงสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ และเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ เพราะเห็นว่าเลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทีมผู้วิจัยและจากสหกรณ์ ทั้งเรื่องเงินทุน อาหารไก่ ฯลฯ โดยเลี้ยงเป็นรุ่นที่ 3 รุ่นละ 300 ตัว ใช้เวลาเลี้ยง 50-70 วัน ก็จับขายได้ สนนรายรับหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วรุ่นละกว่า 1 หมื่นบาทเศษ
ด้าน จำเนียร บุตรตำโชติ รองประธานกลุ่มเลี้ยงไก่เนื้อโคราชบ้าน ศรีสุข เลขที่ 149 หมู่ 19 ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย สมาชิกสหกรณ์ เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ตั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 แสนบาทสร้างโรงเรือน เลี้ยงรุ่นละ 300 ตัว บอกว่าจากมนุษย์เงินเดือนบริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร หลังโรงงานโดนน้ำท่วมหนักปลายปี 2554 และประกาศหยุดกิจการเป็นเวลา 1 ปี ทำให้ชีวิตเขาหันเหกลับสู่บ้านเกิด
"ก็กลับมาอยู่บ้าน ถึงแม้จะไม่มีประสบการณ์เป็นเกษตรกรเลย แต่เพื่อความอยู่รอดของชีวิต อีกทั้งมีพ่อแม่ เพื่อนฝูงคอยให้กำลังใจ จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ สำหรับผมแล้วที่นี่เป็นเสมือนพี่เลี้ยง รวมทั้งการเลี้ยงไก่เนื้อโคราช ก็เป็นอีกคำแนะนำที่ผมเลือกลงทุนตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา"
ถึงวันนี้การเลี้ยงไก่ของจำเนียร เขายอมรับว่ายังไม่คืนทุน ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ทว่าหากจะคุ้มทุนจะต้องเลี้ยงที่ 500 ตัวต่อรุ่น ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังการผลิตพันธุ์ไก่จาก มทส.ด้วย เช่นเดียวกับผู้เลี้ยงอีกหลายๆ คนที่เข้าร่วมกิจกรรม ต่างกล่าวว่าเป็นโครงการที่ดีที่นอกจากจะสร้างอาชีพแก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นการยกระดับวิถีชีวิตชาวบ้าน และชุมชนให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวของไก่เนื้อโคราช ทั้งแง่รายละเอียดข้อมูล หรือเพื่อต่อยอดสร้างอาชีพ ติดต่อที่สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โทรศัพท์ 0-4422-4569 และโทรสาร 0-4422-4376
ที่มา:http://www.komchadluek.net