เนื้อหาและรูปประกอบพร้อมใต้ภาพ ปรับปรุงจากหนังสือ คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ" ของ ชาตรี ประกิตนนทการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2548
"สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" เป็นงานที่มุ่งสะท้อนอุดมคติเรื่อง "ความเสมอภาค" อันเป็นหลักสำคัญ 1 ใน 6 อย่างของ "คณะราษฎร" ที่ยกชูขึ้นเป็นประเด็นในการปฏิวัติ 2475 อุดมคติดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านและล้มความชอบธรรมของระบอบการปกครอง เดิมที่มีการแบ่งชนชั้นของผู้คนในสังคม
สัญลักษณ์ความเสมอภาค
"สถาปัตยกรรม คณะราษฎร" มิใช่เกิดขึ้นจากการลอกเลียนรูปแบบอย่างง่ายๆ และไร้รสนิยมทางศิลปะอย่างที่กล่าวหากันโดยทั่วไปในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่อาจปฏิเสธได้ถึงการหยิบยืมรูปแบบเปลือกอาคารมาใช้จริง แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคคณะราษฎร การหยิบยืมใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเพื่อแสดงความเจริญและศิวิไลซ์แบบ ตะวันตกก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างช้าก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัชกาลที่ 5 ที่รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแพร่หลายกระจายไปทั่วทุกอณูในสังคมชนชั้นสูง ของไทย กรอบความคิดในการประเมินรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับตั้งอยู่บนฐานคิดเชิงบวกเรื่องความจำเป็นเพื่อเอกราชและความอยู่รอดของ ชาติเพียงด้านเดียว ในขณะที่การหยิบยืมรูปแบบตะวันตกมาก่อสร้างในยุคคณะราษฎรกลายเป็นเรื่องของ การลอกเลียนที่ต่ำทรามและไร้รสนิยมเพียงด้านเดียวเช่นกัน โดยไม่คำนึงถึงบริบททางสังคมและการเมือง (เช่นที่นิยมอ้างในงานสถาปัตยกรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5) ที่ผลักดันให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวเลย แต่แท้จริงแล้ว "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" แสดงให้เห็นแนวคิดในเชิงอุดมคติทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง และระบบสัญลักษณ์ใหม่ที่หาไม่ได้ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคตินิยมในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม หากเราปฏิเสธที่จะยอมรับความมีอยู่และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของ "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" แล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ว่ามันจะดี หรือไม่ก็ตาม แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งในสายโซ่ทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สังคมไทยเดินมาสู่ จุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ตึกที่ทำการศาลอุทธรณ์ ตึกหลังนี้เป็นตึกที่สร้างขึ้นหลังจากการสร้างที่ทำการกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2484 รูปทรงอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวมากถึง 60 เมตร โดยออกแบบให้เชื่อมต่อกับตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม รูปแบบอาคารถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยในยุคนั้น หรือถ้าจะเทียบรูปแบบกับลักษณะอาคารในยุโรปก็อาจจะเทียบได้กับสถาปัตยกรรม นีโอ-คลาสสิค (Neo-Classic) ที่ตัดทอนรายละเอียดลวดลายลงจนหมด อันเป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากในประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิเผด็จการในขณะนั้น เช่น เยอรมันและอิตาลี ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางท่านจึงเชื่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งปกครองประเทศใกล้เคียงกับเผด็จการ คงได้รับอิทธิพลทางรูปแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะดังกล่าวมาไม่มากก็น้อย โดยเรียกอาคารแบบนี้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบฟาสซิสต์ (Fascist) ที่ทำการศาลอุทธรณ์นี้ ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2486 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม |
สถาปัตยกรรมคณะราษฎร
ระยะ เวลา 15 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กล่าวได้ว่าวิถีประวัติศาสตร์ไทยได้ตกอยู่ในมือของคนหนุ่มรุ่นใหม่หัวก้าว หน้าที่ผ่านการศึกษาสมัยใหม่กลุ่มหนึ่งซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อว่า "คณะราษฎร" สภาพสังคมวัฒนธรรมและประเพณีที่เรารู้จักคุ้นเคยในปัจจุบันกว่าครึ่งล้วน เป็นผลผลิตไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากยุคสมัยดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่าเป็นช่วงที่สังคมไทยได้เกิดมีนวัตกรรมใหม่ทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งที่ ดีและไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย กล่าวเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม จะพบว่าในช่วง 15 ปีนี้ได้ก่อให้เกิดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากยุคก่อน หน้าและหลังจากนั้นอย่างชัดเจนจนพอจะจัดเป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมได้ยุคหนึ่งเลยทีเดียว "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" โดยทั่วไปสามารถแบ่งรูปแบบงานได้เป็น 2 ประเภทคือ รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย และรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย
จะ มีลักษณะร่วมเฉพาะอย่างกว้างๆ คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกจะเรียบง่ายและเรียบเกลี้ยง รูปทรงเส้นสายของอาคารจะเป็นเส้นตรงไปตรงมาแบบกล่องสี่เหลี่ยม ไม่นิยมประดับตกแต่งด้วยลวดลายใดๆ ถ้าจะมีบ้างก็จะแสดงออกด้วยการออกแบบรูปทรงที่เล่นกับเส้นแนวตั้งหรือแนว นอนอย่างชัดเจนมากกว่าที่จะใช้ลวดลายประเภทอื่น หลังคาจะนิยมออกแบบเป็นหลังคา "ทรงตัด" (หลังคาแบนแบบมีดาดฟ้า) หรือไม่ก็จะก่อเป็นแผงคอนกรีตขึ้นไปยังส่วนหลังคา (Parapet) ในกรณีที่มิได้ทำหลังคาทรงตัด เพื่อหลอกสายตาให้ดูเป็นหลังคาทรงตัด การออกแบบหน้าตาอาคารได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบ ต่างๆ ในยุโรปสมัยนั้น ตัวอย่างเช่น อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม ตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลาง ที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลขบางรัก ที่ว่าการอำเภอบางเขน เป็นต้น รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต
ใน ที่นี้หมายถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบหนึ่งที่สืบทอดระเบียบวิธีในการออกแบบจาก สถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตในอดีตทั้งหลาย แต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากอดีตคือ นิยมตัดทอนรายละเอียดลวดลายทางสถาปัตยกรรมแบบจารีตลงเหลือเพียงเค้าโครงของ เส้นกรอบนอกเท่านั้น ลวดลายที่เหลือจะเป็นเพียงเส้นสายทางเรขาคณิตที่เรียบง่าย รูปทรงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตที่มีความอ่อนช้อยพลิ้วไหวแบบ เดิมจะถูกปรับให้เป็นเส้นที่ตรงแข็งมากขึ้น ซึ่งสะท้อนกับคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนจากไม้มาเป็นคอนกรีตเสริม เหล็ก ตัวอย่างเช่น เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ประตูสวัสดิโสภา กำแพงพระบรมมหาราชวัง เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส และเจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ เป็นต้น
ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม
โดย ภาพรวมจะเห็นถึงลักษณะร่วมกันของ "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ทั้งสองประเภทคือ การออกแบบที่เน้นเรื่องความเรียบง่ายของรูปทรง การลดทอนรายละเอียดที่ซับซ้อน ไม่นิยมเล่นกับลวดลายมากนัก ถ้ามีก็จะเป็นการลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียงเส้นสายแบบเรขาคณิตที่เรียบ ง่ายเท่านั้น
ที่สำคัญคือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างด้วยวัสดุ สมัยใหม่ในยุคนั้น คือ คอนกรีต เสริมเหล็ก แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งคือ "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ในปัจจุบันกำลังจะถูกรื้อถอนทำลายลงไปทุกทีๆ โดยที่แทบจะไม่มีการถกเถียงเรื่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตึกอาคารในยุค นี้มากนัก
สาเหตุสำคัญเกิดจากความเข้าใจว่า "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" เป็นงานที่ไร้คุณค่าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจนไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากมุมมองที่ถูกสร้างขึ้นอย่างผิดพลาดในการ ประเมินคุณค่าของ "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร"
ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด มิได้เกิดขึ้นจากความด้อยในเรื่องคุณค่าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมดังที่มักมีผู้กล่าวอ้างเสมอ
แต่ สาเหตุน่าจะเกิดขึ้นจากมุมมอง 2 ด้านที่ถูกสร้างขึ้นอย่างบิดเบือนเพื่อมุ่งหวังที่จะทำให้สังคมไทย "ลืม" ประวัติศาสตร์ 15 ปีในยุคคณะราษฎร (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของการทำให้ลืมก็คือการบิดเบือนหรือไม่ก็รื้อถอนทำลายหลักฐาน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ซึ่ง "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่สำคัญยิ่งอันเป็นผลผลิตของยุคสมัยดังกล่าว
ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356575301&grpid=&catid=08&subcatid=0804