โดย วรรณโชค ไชยสะอาด
ยาเสพติด ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของประเทศ ไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระดับโลกที่สร้างความเสียหายต่อสังคมมหาศาลทั้งเรื่องของ อาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว และอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งมอร์ฟีน เฮโรอีน และโคเคน ยาเสพติดชื่อกระฉ่อน ล้วนมีสารตั้งต้นเป็นพืชที่มีดอกสวยงามอย่าง "ฝิ่น" นั่นเอง
หาก ไม่รู้ว่าคือต้นฝิ่น ก็นึกภาพไม่ออกเลยว่าพืชล้มลุกที่ชอบขึ้นในที่อากาศเย็น ออกดอกสีชมพูสวยงามจะแฝงไปด้วยความชั่วร้าย คงเหมือนกับหญิงสาวหน้าตาดีที่มองแล้วน่าหลงใหล หากแต่ภายในช่างร้ายกาจนัก
ตัว การสำคัญที่ทำให้ฝิ่นกลายเป็นสารเสพติด คือสารเคมีที่อยู่ในยางของเนื้อฝิ่น อันประกอบด้วย โปรตีน เกลือแร่ ยางและแอลคะลอยด์ (Alkaloid)
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ทหารยังคงมุ่งมั่นทำลายฝิ่นให้หมดไปจากประเทศไทยให้ได้มากที่สุด
พ.ท.สุนทร แหลมหลวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายแผน กองข่าว กองทัพน้อยที่ 3 และหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ หน่วยเฉพาะกิจ ศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 เล่าว่า ฝิ่นเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น มีความชื้น มีแสงแดดส่องถึง และมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ ฝิ่นจึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคเหนือตอนบน เพราะส่วนใหญ่มีลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง บวกกับยากแก่การค้นหาและทำลาย จึงมีการลักลอบปลูกอยู่
พื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกส่วนใหญ่เป็น บริเวณแนวชายแดน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา ลำปาง และน่าน ซึ่งจังหวัดที่มีปริมาณการปลูกสูงคือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน
พื้นที่ที่ครองแชมป์ คือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
(ซ้าย) พ.อ.จรินทร์รัตน์ นาคสนิท (บน) ฝิ่นพร้อมกรีดยาง (ล่าง) ไร่ฝิ่นจากมุมสูง |
เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว ที่เจ้าหน้าที่ต้องจัดการกับปัญหาลักลอบปลูกฝิ่น
"เมื่อ ปี 2527 มีการลักลอบปลูกฝิ่นมากกว่า 54,000 ไร่ ซึ่งปี 2555 เหลือแค่ 1,257 ไร่ และลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 30 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ความเข้มงวดและจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการทำลายและเรื่องบทลงโทษทางกฎหมาย" พ.ท.สุนทรเล่า
และบอกว่า สาเหตุที่ชาวบ้านยังคงลักลอบปลูกฝิ่นกันอยู่ เป็นเพราะ
1)สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
2)สภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต
3)ชาวเขาบางคนยังขาดการศึกษา และหลายคนยังเสพฝิ่นอยู่
4)มีนายทุนชักจูง ให้ทุนในการปลูกและรับซื้อในราคาสูง
5)ชาวบ้านในปัจจุบันต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตมากขึ้น จึงปลูกฝิ่นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ในพื้นที่ดอยหลวง ดอยนางเชียงดาว
มี ประชากรรวมประมาณ 377 คน ชาวบ้านในพื้นที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอและมูเซอมีรายได้เพียง 15,000 บาทต่อปี จากการประกอบอาชีพปลูกผักและทำไร่ข้าวโพด จากรายได้ที่ต่ำนี่เอง จึงเกิดการลักลอบปลูกฝิ่นตามคำเชื้อเชิญของบรรดานายทุนที่ต้องการหากินอย่าง ผิดกฎหมาย โดยรับซื้อในราคาสูง นายทุนบางคนอาจมีสิ่งของอย่างมอเตอร์ไซค์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นของล่อใจ ด้วย
สำหรับการปลูกนั้น ชาวบ้านจะเลือกพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ย้ายเข้าไปในป่าลึก ห่างไกลจากบ้านมากยิ่งขึ้น ในพื้นที่ภูเขาสูง ทั้งนี้
มี การพัฒนาที่ดินโดยจะปลูกปะปนกับพืชชนิดอื่น เช่น ผักกาด ข้าวโพด ลงในพื้นที่ขนาดไม่ถึงไร่ แต่จะกระจายไปในบริเวณใกล้กันจนทั่ว เพื่ออำพรางเจ้าหน้าที่จากการตรวจสอบ
ทหารทำลายฝิ่น |
ความ ตื่นเต้นเกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารนำคณะสื่อมวลชนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจพื้นที่และลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อทำลายไร่ฝิ่นในพื้นที่บ้านลีซอ หนองกระแตะ หมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการทำลายไร่ฝิ่น 2 จุด คือจุดที่มีอายุ 2 สัปดาห์ และ 3 สัปดาห์
หลัง ลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว พ.อ.รินทร์รัตน์ นาคสนิท หัวหน้าส่วนบริการ/สนับสนุน หน่วยเฉพาะกิจ ศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 ก็บรรยายว่าจุดแรกที่พบนั้นเป็นฝิ่นอายุเพียง 2 สัปดาห์ ต้นอ่อนฝิ่นมีสีเขียวอ่อน บนเนื้อที่ขนาด 2 งาน รอบบริเวณมีการปลูกผักกาดและข้าวโพดติดต่อกัน เพื่ออำพรางสายตาเจ้าหน้าที่
เพียง ครู่เดียว ฝิ่นต้นอ่อนก็ราบลงจากการทำลายของเจ้าหน้าที่ทหาร ด้วยการถอนรากถอนโคนต้นอ่อนเหล่านั้น เมื่อเดินผ่านเข้าป่าไปอีกหน่อย ก็พบฝิ่นแปลงที่ 2 ที่มีอายุ 3 เดือน ถือว่าพร้อมต่อการเก็บเกี่ยวดอกผลแล้ว ดูได้จากแต่ละต้นที่ออกดอกสวยงาม ทั้งสีม่วง สีแดง และสีขาว ชื่นชมความงามไม่ทันไร เจ้าหน้าที่ทหารก็ส่งแท่งเหล็กยาวประมาณ 1 เมตรมาให้ พร้อมบอกว่า "จัดการทำลาย
ได้เลย" โดยการนำแท่งเหล็กฟาดฟันต้นฝิ่นให้ล้มลง ไม่นานทุกอย่างก็ราบเป็นหน้ากลองจากการหวดแท่งเหล็กไปบนพืชเสพติดเหล่านั้น
"การจับ ตัวผู้ร้ายนั้นยากถ้าไม่เห็นคาหนังคาเขา เพราะถามใครก็บอกไม่รู้ บอกว่าไม่ได้ปลูก หลายครั้งที่เราเข้ามาทำลายฝิ่นเราจะขอแรงจากชาวบ้านให้มาช่วย โดยนำของมาแจกจ่ายเป็นค่าตอบแทน ซึ่งชาวบ้านบางคนที่มาช่วยนั้นแหละ คือผู้ลักลอบปลูกฝิ่นเสียเอง
"ในฤดูหนาวใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว ดอกสีม่วงมีราคาสูงสุดเพราะมีสารแอลคะลอยด์สูง โดยดอกฝิ่น 1 ดอก สามารถกรีดน้ำยางได้ 6 ครั้ง ตอนเช้าจะกรีดทางทิศตะวันออก เมื่อกรีดแล้วจะปล่อยแผลไว้ให้แดดเผาที่แผลจนยางไหลออกมา พอตอนเที่ยงก็จะมาเก็บยางในรอบแรก และกรีดอีกครั้งทางทิศตะวันตก เพราะแดดจะเผาฝั่งนั้น แล้วค่อยมาเก็บยางอีกรอบตอนเย็น วันหนึ่งสามารถกรีดได้ 2 ครั้ง เท่ากับว่า 1 ดอกกรีดได้ 3 วัน" พ.อ.จรินทร์รัตน์เล่าถึงวิธีการกรีดยางของชาวเขา
ส่วนเรื่องราคา ซึ่งเป็นสิ่งล่อใจให้ชาวบ้านหันมาลักลอบปลูกฝิ่นนั้น ร.อ.พงษ์พันธ์ โสมขันเงิน หัวหน้าชุดตัดทำลายพืชเสพติด กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 อธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ฝิ่นจำนวน 2 งานที่เพิ่งทำลายไปนั้น จะให้น้ำยางประมาณ 2 จ๊อย ซึ่ง 1 จ๊อยเท่ากับ 1.6 กิโลกรัม ราคาของน้ำยางจากดอกฝิ่นจะอยู่ที่จ๊อยละ 1.5 แสนบาท เท่ากับว่าได้ทำลายฝิ่นมูลค่า 3 แสนบาทไปนั่นเอง
ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐพยายามส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและได้เงินมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีโครงการหลวงเข้ามาเพื่อให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวโพด
คงต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้นมีรายได้เพียงพอกับความต้องการ ฝิ่นจึงจะหมดไป
หวังว่า "ยัยตัวร้ายหน้าสวย" จะจากไปพร้อมการกลับมาของคุณภาพชีวิตคนไทยที่ดีขึ้น
หน้า 20 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2556