ถ้วยรางวัลยังไม่สำคัญเท่าได้พบกับยอดหมอลำที่พวกเขารักและศรัทธา คำกล่าวนี้ไม่เกินความเป็นจริงไปนัก หากใครได้ไปอยู่ในงานประกวดหมอลำระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ที่จิม ทอมป์สันฟาร์ม เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็จะรู้ดี
จากรายชื่อคณะกรรมการในครั้งนี้ ไม่ต้องอยู่ในแวดวงหมอลำก็รู้แล้วว่าไม่ธรรมดา ไล่ตั้งแต่ ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำ , บานเย็น รากแก่น ราชินีลูกทุ่งหมอลำประยุกต์ , อาจารย์ประมวล พิมพ์เสน ครูภูมิปัญญาไทยด้านวัฒนธรรม , ผศ.ชอบ ดีสวนโคก ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น , ผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อาจารย์พรสวรรค์ พรดอนก่อ อาจารย์ประจำสาขานาฏศิลป์พื้นเมือง วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
เห็นรายชื่อทั้งหมดนี้แล้ว หมอลำน้อยที่ไหนไม่อยากคารวะบ้าง
บรรยากาศ หมอลำ หมอแคน รุ่นเยาว์ชายหญิงทั่วสารทิศแดนอีสานในวันนั้น สวมวิญญาณมืออาชีพเมื่ออยู่บนเวที ฝีไม้ลายมือมีเท่าไหร่ใส่เต็มที่ วาดลวดลายไม่มียั้ง
การประกวดในครั้งนี้เป็นการประกวดหมอลำกลอน ที่เป็นหมอลำแบบดั้งเดิมที่หาชมได้ยาก ไม่เหมือนหมอลำประยุกต์อย่างลำซิ่งสุดมันที่คุ้นเคย แต่หมอลำกลอนนี้จะมีความยากกว่า โดยผู้เป็นหมอลำต้องมีความรู้รอบตัวเพื่อแต่งกลอนสดเพื่อโต้ตอบกันไป มา...และในที่สุดก็ได้ผู้ชนะ
ทีมชนะเลิศระดับระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนโคกคอนวิทยาคม จ.หนองคาย ส่วนรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนหนองเรือวิทยา จ.ขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนนารีนุกูล จ.อุบลราชธานี
ส่วนระดับอุดมศึกษา รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จ.ขอนแก่น และ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
งานนี้เงินรางวัล มูลค่าสูงถึง 100,000 บาท แต่รางวัลที่เต้นตื่นที่สุดสำหรับหมอลำน้อยคือ ผู้ชนะจะได้ไปแสดงหมอลำที่ร้านอาหาร จิม ทอมสันป์ ที่ ประเทศสิงคโปร์
"อยากนั่งเครื่องบิน" เป็นคำตอบที่ประสานเสียงอย่างพร้อมเพรียงกัน
พวกเขาเหล่านี้ไม่เขินอายที่จะบอกว่าตัวเองยากจน เพราะลำพังการเข้าประกวดนี้ก็แทบไม่มีเงินทุนสนับสนุน พวกเขาต้องหาเวลาหลังเลิกเรียน หรือ ขณะช่วยพ่อแม่ทำไร่ ทำนา ในการฝึกซ้อมร้องเล่นดนตรีอันเป็นรัก และ ผู้ฝึกซ้อมก็เป็นอาจารย์ในโรงเรียน หรือศิลปินในท้องถิ่นที่มีความกรุณาช่วยฝึกสอนให้ โอกาสที่ได้มาขึ้นเวทีระดับนี้จึงถือว่าเป็นใบเบิกทางของอนาคตหมอลำมืออาชีพ ต่อไป
ด้านชุติมา ดำสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายแบรนด์และประชาสัมพันธ์ ของจิม ทอมสันป์ เล่าย้อนถึงความเป็นมาที่ได้จัดการประกวดในครั้งนี้ว่า ทุกๆปีจิม ทอมป์สันได้ทำโครงการเพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของอีสานทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการสถาปัตยกรรมบ้านอีสาน นิทรรศการอาหารอีสาน ส่วนการจัดประกวดหมอลำในครั้งนี้ เพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน และ ราชินีลูกทุ่งหมอลำ บานเย็น รากแก่น
"หลังจากที่จิมทอมสันป์ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสานและรางวัลวัฒนธรรม สัมพันธ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เกิดแนวความคิดการประกวดครั้งนี้ขึ้นมา และเวทีนี้ก็จะกลายเป็นโอกาสสำหรับเด็กๆที่เข้าประกวดในครั้งนี้ที่จะถูก ปั้นให้เป็นศิลปินแขนงนี้ต่อไปในอนาคต ตัวอย่างหมอแคนระดับมัธยมศึกษาที่มีความสามารถโดดเด่น จนได้รับรางวัลหมอแคนยอดเยี่ยม จนอาจารย์ประมวลบอกว่าจะสอนและปั้นเด็กคนนี้ให้เป็นหมอแคนระดับชาติให้ได้ นี้แหละคือความสำเร็จของเราโอกาสสำคัญของเด็กที่จะได้เจอคนที่จะปั้นพวกเขา"
หาใช่เด็กรุ่นใหม่จะไม่สนใจวัฒนธรรม แต่ต้องถามว่าผู้ใหญ่มีเวทีสำหรับพวกเขาหรือยัง?!
{youtube}Sm849GXXfYY{/youtube}
ที่มา:
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1357638134&grpid=03&catid=21&subcatid=2100