"ถึงคุณไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่การเมืองก็จะเข้ามายุ่งกับคุณ" วาทะอมตะนี้ยังคงใช้ได้จริงในทุกสมัยและทุกวงการ ไม่เว้นกระทั่งวงการบันเทิงอย่าง "ภาพยนตร์" นับแต่ยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมหนังอเมริกัน "ฮอลลีวูด" การเมืองได้เข้ามาเกี่ยวพัน และบ่อยครั้ง "หนังการเมือง" กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารกับสาธารณะได้อย่างแยบยล
ย้อนหลังไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากกองทัพญี่ปุ่นเลือกกระตุกหนวดเสือถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์แบบสายฟ้าแลบ
ทันทีที่สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมฉุดกระชากลากให้โลกฮอลลีวูดโดดร่วมรบในศึกครั้งนั้น ด้วยการเป็นฐานทัพผลิตหนังสงครามเชิดชูวีรบุรุษผู้กำชัยชนะและโจมตีนาซีเยอรมันอย่างเมามัน ให้เป็นหนังที่ขจรขจายสู่ตลาดภาพยนตร์โลก
สอดคล้องกับทิศทางของหนังฮอลลีวูดที่แตะประเด็นการเมืองและสังคม ส่วนใหญ่จะฉายภาพสหรัฐเป็น "ซูเปอร์ฮีโร่" กอบกู้วิกฤตโลก หรือไม่ก็เป็น "พี่ใหญ่" ดูแลโลกทั้งใบ ชูภารกิจช่วยเหลือประเทศตกยาก อาสาถือเมล็ดประชาธิปไตยทะลวงกำแพงนำไปปลูกในบ้านคนอื่น
โดยไม่รู้ว่าเมล็ดผลที่สหรัฐกำติดมือเข้าไปนั้นจะงอกเงยได้ภายใต้การสูญเสียหรือไม่นั้น จะมีหนังอเมริกันสักกี่เรื่องที่กล้า "ตั้งคำถาม" ถึงความชอบธรรมของการกระทำแบบ "มาเฟีย" นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงจนถึงปัจจุบัน
ในอนาคตไม่แน่ว่า อุตสาหกรรมฟิล์มดิจิทัลจะหวนมาตั้งคำถามกับ "ฮีโร่" กรณีนี้จับสัญญาณได้จากซีกอาณาจักรฮอลลีวูด บนเวทีรางวัลภาพยนตร์อเมริกันอย่าง "รางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ" รวมถึงบรรดานักวิจารณ์หลายสำนัก ต่างพร้อมใจเทคะแนนให้ "ธีมหนังการเมือง" ซึ่งอีกนัยหนึ่งยังบ่งชี้ถึงเทรนด์ภาพยนตร์ในปีนั้น ๆ ด้วย
Django Unchained
เมื่อพลิกโผดูรายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าตากรรมการพบว่า "หนังการเมือง" หลายเรื่องถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสำคัญในหลายสาขาของเวที "ออสการ์ ครั้งที่ 85 และลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 70" ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปรากฏว่ามีถึง 5 เรื่องที่สร้างจาก "เรื่องจริง" อิงการเมืองและพูดถึงกระแสสังคม ได้แก่ "Argo", "Lincoln", "Zero Dark Thirty", "Django Unchained", "Les Miserables"
Argo
เริ่มจากหนังระทึกขวัญการเมืองเรื่อง "Argo" ผลงานชิ้นโบแดงของ "เบน แอฟเฟล็ก" รับบททั้ง "แสดงนำ-กำกับเอง" ซึ่งกำลังเนื้อหอมในฐานะคนเบื้องหลังที่มีพัฒนาการดีวันดีคืน
หนังแอ็กชั่นจากเรื่องจริงของปฏิบัติการสายลับช่วยตัวประกันในอิหร่านในยุคปลายทศวรรษ 70 เมื่อเกิดการลุกฮือนำไปสู่การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ลุกลามบานปลายจนไปถึงการบุกยึดจับตัวประกันในสถานทูตสหรัฐกลางกรุงเตหะราน เป็นเหตุให้ซีไอเอฉายา "จอมสกัด" วางแผนตั้งกองถ่ายหนังเก๊ ๆ ขึ้นมาเพื่อมีแผนลับพาตัวประกันหนีตาย
ในแต่ละตอนไม่เทน้ำหนักให้ฉากต่อสู้โครมครามแบบจริตหนังแอ็กชั่นทั่วไป แถมยังใช้มุมกล้องและการตัดต่อที่ออกจะเชยเมื่อเทียบกับเทคนิคพิเศษในหนังฟอร์มใหญ่ แต่ความโดดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่การลดสปีดการดำเนินเรื่องลง
เพื่อเว้นวรรคให้คนดู "รู้สึก" ในแต่ละฉากที่สำคัญ และกลับคุมจังหวะเล่นชั้นเชิงสร้างความกดดันบีบคั้นลุ้นระทึก
ยิ่งในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนัง ทั้งที่บทสนทนาเต็มไปด้วยการวางแผนปนเปกับบริบทการเมืองระหว่างประเทศ มีการลำดับเรื่องที่ทำให้คนดูเข้าใจการเมืองอิหร่านได้ไม่ยาก ผ่านภาพเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาสอดแทรกเป็นระยะ ผสมการร้อยเรื่องบนความเป็นจริงแบบไม่ต้องพยายามมาก
จุดเด่นที่เบน แอฟเฟล็ก สื่อสารผ่านหนังเรื่องนี้ สะท้อนภาพความบาดหมางระหว่างสหรัฐอเมริกากับโลกมุสลิม แต่ไม่เลือกพิพากษาฝ่ายใดแบบการมองโลก "ขาวจัด ดำจัด" หรือยัดเยียดให้มองใครเป็นคนดีหรือคนเลว แต่เผื่อพื้นที่ให้มุมมองอื่นได้ด้วย ผ่านศิลปะการเล่าด้วยภาพ
เป็นพลังผลักให้ Argo ก้าวเป็นตัวเก็งชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พร้อมผงาดติดโผเข้าชิงรางวัลของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ของสหรัฐหรือ DGA Award ที่ว่ากันว่าเป็นลายแทงทำนายผลรางวัลใหญ่ของออสการ์ได้ดีที่สุด
Lincoln
ต่อมาเป็นผลงานของผู้กำกับระดับพระกาฬ "สตีเว่น สปีลเบิร์ก" ถ่ายทอดหนังชีวประวัติของประธานาธิบดีในตำนานของสหรัฐอเมริกา "อับราฮัม ลินคอล์น" ได้เข้าชิงออสการ์มากที่สุดถึง 12 สาขา แถมยังเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาต่าง ๆ มากที่สุดถึง 7 รางวัล ขณะที่สถาบันภาพยนตร์แห่ง "บริติช" (BAFTA) ประกาศเข้าชิงมากที่สุดถึง 10 สาขา ด้านการแสดงของ "แดเนียล เดย์-ลูอิส" ที่ถอดแบบลินคอล์นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ยกให้เป็นตัวเต็งเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
เรื่องราวกะเทาะเปลือกในช่วงชีวิต 1 เดือนสุดท้ายก่อนที่รัฐบุรุษผู้นี้จะถูกลอบสังหารชีวิต ให้ตัวลินคอล์นพาเข้าไปสัมผัสการเมืองสหรัฐ ท่ามกลางภาวะสงครามกลางเมืองอันเปราะบาง ความขัดแย้งระหว่างสีผิว และช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากกฎหมายเลิกทาส
จังหวะการปล่อยภาพยนตร์ปลุกชีพให้ลินคอล์นออกมาโลดแล่น ช่างเหมาะเหม็งกับช่วงสมัย 2 ของประธานาธิบดีโอบามา แม้จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมืองเหมือนในหนัง แต่กำลังเผชิญหน้ากับความร้าวฉานทางความคิดเห็นแตกออกเป็นคนละขั้วอย่างชัดเจน
แน่นอนว่าบนกระดานการเมืองที่ไม่ได้ต้องการคนดีที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ต้องการผู้นำที่เข้าใจธรรมชาติของวิถีการเมือง และลินคอล์นก็พิสูจน์ให้เห็นหนทางประคับประคองความแตกแยกในสหรัฐให้เดินต่อไปได้ ทั้งการโน้มน้าวระดมเสียงสนับสนุนผ่านสุนทรพจน์เร้าอารมณ์
แม้หนังดำเนินอย่างเนิบช้าและเรียบง่าย แต่ความไม่ล้นเกินพอดีของตัวหนัง คาดว่าน่าจะกวาดออสการ์ไปเพียบ
Zero Dark Thirty
อีกหนึ่งเรื่องที่มาแรงแซงทางโค้ง คือ "Zero Dark Thirty" ยกเครดิตให้ผู้กำกับสาวชาวอเมริกัน "แคธริน บิเกโลว์" เจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง The Hurt Locker ที่เคยเล่าเรื่องสงครามอิรักผ่านนักเก็บกู้ระเบิด กลับมาคราวนี้ต่อยอดติดตามภารกิจไล่ล่าผู้ก่อการร้ายเบอร์ 1 ที่สหรัฐ
ชี้เป้าให้เป็นต้นเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 แต่ดีกรีออสการ์ก็ไม่ได้ช่วยให้หาทุนทำหนังได้ง่ายแต่อย่างใด นอกจากวิ่งหาเงินแบบหืดขึ้นคอแล้ว ยังต้องเกิดอาการช็อกเมื่อทราบข่าวทางทีวีว่า "บิน ลาเดน ตายแล้ว" จนรื้อเนื้อเรื่องลงมือหาข้อมูลกันใหม่
กระทั่งพบข้อมูลที่เซอร์ไพรส์ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังภารกิจเด็ดหัวบุคคลที่ใครไม่คาดคิดว่าจะตามล่าได้เป็น "หญิงสาว" ที่สามารถชี้เป้าสังหารบิน ลาเดน ได้ถูกจุด
จุดเด่นของ Zero Dark Thirty ไม่ได้เป็นหนังสารคดี แต่นำข้อเท็จจริงมาเล่าใหม่ด้วยเทคนิคสมจริง ทำให้คนดูเสมือนเป็นผู้ติดตามอยู่ในที่นั่นด้วย ทั้งที่ไม่ง้อซีจีแบบหนังทั่วไป
เช่นเดียวกันหนังเรื่องนี้ "เว้นที่ว่าง" ให้คนดูได้ตัดสินเองในหลายกรณี เช่น ภาพการทรมานนักโทษ แม้หนังจะเทน้ำหนักเล่าขานวีรกรรมแสนกล้าของหน่วยพิเศษนาวิกโยธิน "ซีลทีม 6" แต่เลี่ยงที่จะเลือกข้างให้เห็นในตอนจบ ทิ้งเพียงความสับสนท่ามกลางเมฆหมอกของสงครามก่อการร้ายที่ไม่มีวันจบ แม้ในวันที่สหรัฐอเมริกาสามารถฆ่าคนที่อยากให้ตายมากที่สุดไปแล้วก็ตาม
ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ ถูกเบรกให้เลื่อนฉายหลังพ้นการเลือกตั้งสหรัฐ เพราะถูกรุมวิจารณ์จากฝั่งพรรครีพับลิกันตั้งแต่ก่อนฉายว่า สร้างขึ้นเพื่อช่วยบารัก โอบามาหาเสียง และได้ข้อมูลลับเฉพาะมาจากพรรคเดโมแครต แต่เมื่อหนังออกฉายทางฝ่ายโจมตีก็เงียบกริบ...?
เมื่อจุดยืนที่ชัดเจนและคำชี้แจงของผู้กำกับหญิงแกร่งยังยืนหยัดในท่าทีไม่อิงขั้วการเมือง เช่นเดียวกับที่เคยทำให้เห็นใน The Hurt Locker กลายเป็นหนังที่ค่ายใหญ่แห่แย่งซื้อมาจำหน่าย ด้วยชื่อที่เชื่อกันว่า "หนังที่เกี่ยวกับ 9/11 ที่ดีที่สุด" ขึ้นแท่นหนังเต็งบนเวทีออสการ์ประจำปีนี้ด้วย
Les Miserables
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหนือกว่ากองรางวัล คือ หนังแต่ละเรื่องกล้าตั้งคำถามเชิงเสียดสี "จริยธรรมและความชอบธรรม" กับมหาอำนาจโลก แต่หากกลับมามองวงการบันเทิงไทย ดูเป็นตลกร้ายที่เจ็บปวด เมื่อเห็นแต่ "หนังตลาด" โลดแล่นและขายได้ แต่พวก "หนังประหลาด" ในสังคมที่อ่อนไหวยังต้องเซ็นเซอร์กันต่อไป
ที่มา:http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1357971018&grpid=09&catid=12&subcatid=1200