แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

korat_education

 "วันครู" เป็นวันสำคัญ คุรุสภาจัดงาน "วันครู" ขึ้นประจำทุกปี

นับแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยถือเอาวันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู

การ จัดงานวันครูปีนี้ เป็นครั้งที่ 57 เพื่อ "เฉลิมพระเกียรติพระแม่แห่งแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นครู" เป็นการระลึกถึงบูรพาจารย์และยกย่องเชิดชูเกียรติของครูและวิชาชีพครูให้ ประจักษ์


"มติชน" มีโอกาสพูดคุยกับครูหลายพื้นที่ เพื่อสะท้อนเสียงจากหัวใจครูให้ได้ยินโดยทั่วกัน

เริ่ม จากครูเทศบาล "ศิริจันทร์ พุ่มศรีภักดิ์" อายุ 36 ปี ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร สังกัดเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เจ้าของรางวัล "หนึ่งแสนครูดี" ของกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า เป็นครูสังกัดเทศบาลได้ 8 ปีแล้ว นอกเหนือจากการทุ่มเทการสอนอย่างเต็มที่แล้ว ปัญหาหนึ่งที่ครูส่วนใหญ่เจอคือ "หนี้สิน"

"เชื่อว่าครูเป็นหนี้ เกือบทุกคน เนื่องจากครูต้องสร้างความมั่นคงให้ชีวิตจึงต้องกู้เงินมา ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล บอกว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้ครู เรื่องนี้แก้ยาก ถ้าอยากจะช่วยครู อยากให้รัฐบาลช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารต่างๆ

"สำหรับ ครูที่มีหนี้สิน ต้องดูแลตัวไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ขยันอดทน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และอยากเรียกร้องเรื่องการทำผลงานของครู ควรจะเลิกได้แล้ว เพราะครูส่วนมากไปทำผลงาน ทำให้ไม่ค่อยสอนหนังสือ ส่งผลเสียแก่เด็ก


"รัฐบาลควรใช้วิธีประเมินครูผู้สอนดูผลงานจากการสอน การตั้งใจสอน เพราะครูที่ตั้งใจสอนส่วนมากไม่ค่อยได้ทำผลงาน"

โยก ไปทางอีสาน "จิรภา สินธุ์ประสิทธิ์" ครูโรงเรียนวิจิตราพิทยา อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ครูสอนภาษาต่างประเทศ ประสบการณ์นานกว่า 30 ปี กล่าวว่า ครูจะต้องมีความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ในความเป็นครู มีการปรับวิธีเรียนและเปลี่ยนวิธีสอนให้ทันสมัย ครูส่วนหนึ่งได้รับการพัฒนา มีวิทยฐานะดีขึ้น แต่คุณภาพนักเรียนยังไม่ก้าวหน้า

"อยากฝากถึงภาค รัฐว่า ครูส่วนหนึ่งขาดความตระหนักในหน้าที่ การจัดการศึกษามีความยุ่งยากซับซ้อน การพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร และวิธีการสอนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดการเรื่องงานฝากงานอื่นๆ ที่แจ้งให้ครูทำ โดยผู้บริหารอย่ารับงานอื่นมากแทรกกิจกรรมในโรงเรียน จนทำให้ครูจะต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับงานฝาก"

ครูสุรัตน์ มุทุวงศ์ ครูโรงเรียนพังเคนพิทยาคม อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี บอกว่า รับราชการครูมา 33 ปี อยากฝากกระทรวงศึกษาธิการว่า ขณะนี้มีครูไม่ครบตามวิชาเอก หรือครูสอนหลายวิชาเกินไป ความก้าวหน้าของครูยังใช้ระบบประเมินเอกสาร มีการแอบอิงผลประโยชน์ทำให้ภาพพจน์ครูเสียหาย เพราะการประเมินถูกแทรกแซง

ครู วีระยุทธ เพชรประไพ ครูสอนวิชาศิลปะ อายุ 50 ปี โรงเรียนเสิงสาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เพิ่งได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.ให้เป็น 1 ใน 4 คน รับรางวัล "ยอดครู ผู้มีอุดมการณ์" ประจำวันครูปี 2556 ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังว่า ที่ผ่านมาทำงานสอนหนังสือด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ต้องการสร้างลูกศิษย์ให้กลายเป็นผู้มีการศึกษาและมีคุณภาพในสังคมไทย ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับรางวัลใดๆ แต่เมื่อ สพฐ.มอบรางวัลให้ก็รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมาก จะเป็นขวัญกำลังใจให้ปฏิบัติหน้าที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป



ขึ้น เหนือไปบนดอย "ชลดา อินทร์เอี่ยม" หรือครูแดง อายุ 47 ปี ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านแคววัวดำ ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีนักเรียนร้อยละ 90 เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ บอกว่า การสอนโรงเรียนบนพื้นที่สูงยากกว่าโรงเรียนพื้นราบ เพราะภาษาสื่อสารที่แตกต่างกัน เด็กบนดอยมีปัญหาค่อนข้างมาก มาจากปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง หรือพ่อแม่ติดคุก เด็กถูกทอดทิ้ง

"วันครู ปีนี้ อยากให้ความสำคัญกับเด็กบนพื้นที่สูง ส่งเสริมการศึกษาและอยากได้กำลังใจจากคนทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมา ครูบนดอยถูกโจมตีเยอะว่า มาตรฐานการสอนต่ำทั้งที่มาจากความไม่พร้อมในหลายด้าน

"ทั้งเด็กเอง ที่มีการพัฒนาการช้า สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเพราะไม่ทราบภาษา ผู้ปกครองไม่สามารถสอนเพิ่มเติม หรือโอกาสที่จะเรียนพิเศษนั้นไม่มีเลย"

ลง ไปที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง พบกับ "ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา เล่าให้ฟังว่า อยากให้สังคมครูโดยรวมตระหนักว่า อาชีพของเราเป็นอาชีพสร้างรากฐานของประเทศ สร้างคนดีมีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงาน จึงต้องยึดมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรีนี้ไว้

"สำหรับครูพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยากให้กำลังใจทุกคน ให้พวกเราตระหนักว่า เราต้องยืนหยัดในเหตุผลความถูกต้องและเป็นธรรม กล้าเข้าร่วมการแก้ปัญหาความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้น เพราะสันติสุขอย่างยั่งยืนจะเกิดได้ ต้องอาศัยพลังสติปัญญาและความกล้าหาญ"

ครู รอสือลี อาแวกะจิ ครูโรงเรียนบ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา เปิดเผยว่า อยากเห็นความสงบ ขณะนี้การเรียนของนักเรียนและการสอนของคุณครูไม่เต็มหน่วย อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 หรือ 30 กว่าปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้รู้สึกลำบากมาก การเรียนการสอนทำได้ไม่ดี ผลการเรียนของนักเรียนก็ตกต่ำ ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหานี้ด้วย

ครู สุขุมาภรณ์ กิตติวงศากูล ครูผู้สอนประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านเตาปูน ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า เป็นครูมาแล้วกว่า 20 ปี สอนใน

พื้นที่มาโดยตลอด แม้จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็ไม่เคยคิดขอย้าย เพราะผูกพันกับเด็ก สถานที่และชุมชน ถ้าไปแล้วใครจะสอนเด็กเหล่านี้

แม้ครูทั่วไทยจะมีปัญหาหลากหลาย แต่ฟังเสียงจากครูทั่วสารทิศ ยังสัมผัสถึงพลังอันเปี่ยมล้น

พลังที่เปี่ยมล้นด้วยอุดมการณ์แห่งความเป็นครู

หน้า 13 มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 16 มกราคม 2556

 

Go to top