ราว 10 กว่าปีก่อน...เราเคยรู้จัก "อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร" ในฐานะช่างภาพหนุ่มฝีมือดีในกองถ่ายภาพยนตร์ ผู้ที่กดชัตเตอร์แต่ละครั้งสร้างพลังให้ภาพถ่ายมีชีวิตได้เสมอ กระทั่งเขาเลือกหันมาเอาดีบนเส้นทางที่หลงใหลตั้งแต่เด็ก คือ "ดนตรี" จนทำให้หลายคนรู้จักเขาในนาม "เล็ก-กรีซซี่ คาเฟ่"
จากผลงานอัลบั้ม แรก "สิ่งเหล่านี้" ในปี 2551 ภายใต้ค่ายสมอลล์รูม สร้างปรากฏการณ์เงียบ ๆ ในหมู่คอเพลงอินดี้ ด้วยการหอบหิ้วซาวนด์ดนตรีบริท-พ็อปจากเกาะอังกฤษ ถ่ายทอดเป็นเพลงรักอกหักที่ผิดเพี้ยนจากเพลงไทยตามท้องตลาด
ปีถัดมา "อัลบั้มทิศทาง" ปล่อยออกมาตอกย้ำความชัดเจนทางดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บทเพลงที่พรั่งพรูเมโลดี้เศร้าหม่นหมองทว่าสวยงาม ดั่งบทกวีที่มีพลัง ผ่านเสียงร้องแหบเท่ ๆ ดึงคนฟังให้จมอยู่ในอารมณ์เพลงจนถอนตัวไม่ขึ้น
มา ถึงวันนี้ "กรีซซี่ คาเฟ่" กลายเป็นศิลปินที่มีฐานแฟนเพลงจำนวนมาก ไม่ใช่แค่กลุ่มอินดี้เท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับว่าเป็น "ศิลปินตัวจริง" ในฐานะผู้เป็นทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินดังอย่าง "ปาล์มมี่" การันตีผลงานด้วยรางวัลทางดนตรีมากมาย
แต่หลังจากห่างหายการทำ อัลบั้มเต็มกว่า 2 ปี "ชายนักบันทึก" ที่เฝ้าเขียนบทเพลงผ่านชีวิตส่วนตัว กลับมาอีกครั้งพร้อมอัลบั้มใหม่รวบรวม 13 เพลงที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตสับสนไร้ทิศทางการทำเพลงต่อ ผลักให้เขาออกเดินทางหลบไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษนาน 4 เดือน เพื่อหาคำตอบอะไรบางอย่าง จากการเดินทางที่ไม่ได้ตั้งใจ กลายเป็นที่มาของชื่ออัลบั้ม "The Journey Without Maps"
"แต่ละ อัลบั้มของเราเป็นเหมือนการอัพเดตชีวิต บทเพลงกว่า 90% มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นจริง และที่เราเขียนเพลงรักดูหม่นหมอง
เพราะ ตั้งแต่เด็กก็ไม่ค่อยได้เจอความรักที่สวยงามนัก และเชื่อว่าบางทีการพยายามมองโลกสวยงาม ก็เป็นเพียงวิธีหนีความจริงที่ไม่เนียนที่สุดหรือเปล่า ส่วนเพลงของเราก็แค่พูดความเป็นจริงที่รู้สึกเท่านั้นเอง" เล็ก-อภิชัยเล่าเพลงผ่านชีวิต ด้วยสีหน้าและแววตาครุ่นคิดราวกับเป็นครั้งแรกที่พูดเช่นนี้
ทั้ง 13 เพลงในอัลบั้มนี้แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางดนตรีเติบโตคู่ขนานกับการเข้าใจ ชีวิต ทั้งความล้ำลึกของภาษาเพลง ซาวนด์ดนตรีอันละเมียดละไมซับซ้อนอย่างไม่ธรรมดา และเนื้อหาเพลงคมคาย ฟังแล้วสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่คลี่คลายไปในโทน "สว่าง" ขึ้นกว่าอัลบั้มก่อน ๆ ในมุมของคนที่ผ่านโลกมาระดับหนึ่ง จนเข้าใจความจริงอะไรบางอย่าง แล้วบันทึกเป็นเพลงส่งต่อกำลังใจในการเดินทางต่อไป
"แต่นิยามการให้ กำลังใจของเรา ไม่ใช่แค่ตบไหล่เสมอไป เช่น ถ้าเพิ่งเจอเรื่องร้ายมา ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องห้ามตัวเองแล้วบอกว่าไม่เป็นไร ไม่เสียใจ บางทีการระเบิดความรู้สึก หรือปล่อยน้ำตาไหลรินก็ช่วยได้ เดี๋ยวน้ำตาหยุดก็จะเข้าใจเอง" เขายังยืนยันการหันมาแต่งเพลงอารมณ์บวกขึ้น ไม่ใช่การเปลี่ยนความคิดเดิม แค่เป็นมุมมองที่ไม่ค่อยพูดถึงเหมือนดังเพลง "ร่องน้ำตา" หนึ่งในเพลงช้าที่เพราะมากในอัลบั้มนี้ ประสานเสียงร้องหวานของ "ญารินดา" ช่วยเข้า มาดึงอารมณ์เพลงให้นิ่งเย็น ลากคนฟังให้ร่วมดำดิ่งในห้วงที่น้ำตาโปรยปราย แล้วฉุดให้ลุกขึ้นตามจังหวะรัวกลองที่เร่งกระตุ้นให้คนหมดพลังฮึดเดินหน้า ต่อ แล้วปล่อย
"ให้ความพ่ายแพ้เป็นเพียงการเรียนรู้"
เมื่อ เปรียบเทียบกับอัลบั้มก่อน ผลงานชุดนี้ได้ใช้เทคนิคการเขียนเพลงที่ลุ่มลึกกินใจอีกระดับหนึ่ง เผยให้เห็นขุมทรัพย์ "คลังคำ" ที่มีอยู่ในตัวศิลปิน ถ้อยคำอันเรียบง่ายที่เลือก
นำมาร้อยเรียงอย่างตรงไปตรงมา พร้อมหยิบมาเปรียบเปรยแฝงความหมายอันน่าคิด เช่น "นี่คือภาพยนตร์ ที่ไม่ต้องการผู้ชม และนี่คือพายุฝน ที่ไร้ซึ่งลม" เอ่ยขึ้นต้นเพลง "อุบัติการณ์" หรือท่อนหนึ่งในเพลง "เมฆใต้น้ำ"
ชวนให้คิดว่า "เมื่อปลาอยากเป็นนก ลมอยากเป็นแสง" สื่อนัยให้มองเห็น "สิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่"
ความ พิถีพิถันด้านดนตรียังคงไม่ทิ้งลายเซ็นมืออาชีพของกรีซซี่ คาเฟ่ ความเป็นพ็อปร็อกรื่นหู ผสมสไตล์บริท-พ็อป อย่างเช่นในเพลง "อาณาเขต" ในจังหวะสนุกชวนโยกตาม หลายเพลงเหนือชั้นด้วยการผสมซาวนด์ทั้งอะคูสติกและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เสริมความแน่นแบบดนตรีร่วมสมัย
นอกจากนี้ยังอีกหลายเพลงที่เพราะโดน ใจ ทั้งแทร็กคุ้นหูอย่าง "ประโยคบอกเล่า" เพลงประกอบหนังที่ทำได้ดีจนช่วยส่งพลังให้คนอยากซื้อตั๋วดูเรื่องชัมบาลา
หรือ "ป่าสนในห้องหมายเลข 1" เป็นเพลงที่แต่งขึ้นระหว่างที่เขารับบทแสดงนำในภาพยนตร์กึ่งอินดี้ เรื่อง
"แต่เพียงผู้เดียว" ที่เพิ่งคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังรัสเซีย
แม้ ภาพรวมของ "The Journey Without Maps" อาจไม่ได้ถูกจริตตลาดคนฟังเพลงไทยมากนัก แต่ "กรีซซี่ คาเฟ่" ได้ก้าวทะลุปล้องมาตรฐานทางดนตรีของเมืองไทยไปแล้ว เพียงแค่ซิงเกิลแรก "เงาของฝน" ปล่อยพลัง
จัดหนัก ตั้งแต่ซาวนด์ขึ้นต้นด้วยเสียงไวโอลินประหนึ่งวงออเคสตร้าบรรเลง สร้างบรรยากาศเค้นอารมณ์ก่อนเล่าขานความกลัวในจิตใจที่เกิดจากจินตนาการตน เอง
แต่ไม่แนะนำให้ฟังทั้งอัลบั้มรวดเดียวจบ ไม่ใช่ว่าเพลงอินดี้จัดเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าถึงได้ ทว่าเป็นเพียงเพลงของ "มนุษย์ธรรมดา" ที่มองเห็น "ความเป็นจริง"
จึงควรค่อย ๆ ใช้เวลาซึมซับรายละเอียดทาง
ความรู้สึกที่แอบซ่อนนัยไว้มากมายให้ค้นหาในแต่ละบทเพลง
ลองมาร่วมเดินทางที่ไร้แผนที่กับ "กรีซซี่ คาเฟ่" ที่มีเพียง "สัญชาตญาณ" และ "ความรู้สึก" เป็นเข็มทิศนำทาง
ที่มา:http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1358651230&grpid=03&catid=12&subcatid=1200