ทุกวันนี้ยังมีการพบและช่วยเหลือชาว "โรฮิงญา" ผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะริมตะเข็บชายแดนภาคใต้
ล่า สุด พ.อ.จรัล เอี่ยมฐานนท์ เสนาธิการกรมทหารราบที่ 15 และส่วนปฏิบัติการข่าวเชิงรุกและภัยแทรกซ้อน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พ.ต.อิทธิพล พรหมดวง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับนายจำลอง ไกรดิษฐ์ นายอำเภอสะเดา พ.ต.อ.พีระพงษ์ ฉายอรุณ ผกก.สภ.ปาดังเบซาร์ ได้เข้าช่วยเหลือกลุ่มมุสลิมชาวโรฮิงญากว่า 400 คน ที่หลบซ่อนอยู่ในที่พักชั่วคราวบริเวณป่าสวนยางชายแดนไทย-มาเลเซีย
ทั้งนี้โรฮิงญากลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นชายฉกรรจ์ ผู้หญิงและเด็ก อยู่รวมกันอย่างแออัดภายในสภาพอิดโรย ภายในเพิงกระท่อมขนาดใหญ่
จาก การสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ถูกนำมาพัก ณ จุดดังกล่าวนานกว่า 3 เดือน รอส่งไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อซื้อไปเป็นแรงงานเรือประมง ผ่านนายหน้าทั้งชาวไทยและชาวพม่า โดยมีค่าตัวรายละ 60,000-70,000 บาท
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง แผนกคดีสืบสวนความมั่นคงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า มีการขนชาวโรฮิงญา รัฐยะไข่ ประเทศพม่า จากชายแดน จ.ระนอง ทั้งทางเรือและทางบก เดินทางไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลีย โดยน่าจะเข้าไปทำงานที่บริษัทรักษาความปลอดภัย และเป็นทหารรับจ้างที่ส่งเข้าไปยังประเทศตะวันออกกลาง และอัฟกานิสถาน เพราะโดยพื้นฐานชาวโรฮิงญามีความเชี่ยวชาญเรื่องการรบ รวมทั้งเดินทางไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย และตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย มีอาชีพเป็นแรงงานในสวนปาล์ม และงานรับจ้างทั่วไป
ชาวโรฮิงญาเดิน ทางออกนอกประเทศผ่านโพยก๊วน ส่วนค่าใช้จ่ายมีกลุ่มต้นทางเจ้าของงานสำรองจ่ายไปก่อน แต่เมื่อเข้าไปทำงานจะต้องถูกหักเป็นรายเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
"โรฮิงญาบางคนจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ บางรายก็เคยทำงานกับหน่วยงานข่าวกรองระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา พวกเขามีแนวคิดที่หาเงินทุนไปต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตยของโรฮิงญาด้วย"
นอกจากนี้จากการสัมผัสกับชาวโรฮิงญา พบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความขยันขันแข็งอดทนในการประกอบอาชีพ จนเป็นที่รักของผู้อยู่ร่วมกัน
นี่คือเส้นทางชีวิตของ "โรฮิงญา" หนึ่งในเหยื่อธุรกิจการค้ามนุษย์ ที่มีเงินหมุนเวียนสะพัดในเงามืดนับร้อยล้านบาท
ที่มา:
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1358508689&grpid=&catid=12&subcatid=1204