จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปิน นักคิด นักปรัชญา ผู้ล่วงลับ กับอีกสถานะคือ "ขบถ" ที่เมินเฉยต่อ "ขนบ" ในวงการศิลปะ หากมุ่งมั่นในการทำงานท่ามกลางเสียงเย้ยหยัน จนกระทั่งสามารถประดิษฐานแขนงแนวศิลปะ "แบบจ่าง" ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยอย่างยากที่ใครจะเอาอย่าง
...ฉันเคย รับจ้าง เขียนรูปเหมือนให้กับพ่อแม่ชาวบ้าน
ฉันเคย เขียนภาพทิวทัศน์ แต่ไม่รับจ้าง
ฉันเคย สร้างภาพจิตรกรรม แต่ไม่รับจ้าง
ฉันเคย เขียนบทกวี แต่ไม่รับจ้าง
เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน...
(จ่าง แซ่ตั้ง : ข้อเขียนไม่ปรากฎปีเขียนและไม่เคยพิมพ์เผยแพร่)
จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปิน นักคิด นักปรัชญา ผู้ล่วงลับ กับอีกสถานะคือ "ขบถ" ที่เมินเฉยต่อ "ขนบ" ในวงการศิลปะ หากมุ่งมั่นในการทำงานท่ามกลางเสียงเย้ยหยัน จนกระทั่งสามารถประดิษฐานแขนงแนวศิลปะ "แบบจ่าง" ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยอย่างยากที่ใครจะเอาอย่าง
จากวลีหนึ่งของข้อเขียน มาสู่ชื่อนิทรรศการ “เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการสร้างสรรค์ของ จ่าง แซ่ตั้ง ผ่านผลงานวาด ปั้น และเขียนมากกว่า 40 ชิ้น แบ่งออกเป็น 4 ชุด ด้วยกันคือ ผลงานจิตรกรรมทิวทัศน์ ผลงานวาดเส้นรูปเหมือนบุคคล ผลงานวรรณกรรมบทกวี และผลงานบทกวีรูปธรรม รวบรวมผลงานหลากหลายตลอดช่วงชีวิตของศิลปินผู้นี้
"ที่ผ่านมาผมก็จะจัดนิทรรศการให้พ่อเป็นระยะ ผลงานชุดนี้จริงๆ แล้วจะแสดงที่หอศิลป์จามจุรีในปี 2554 แต่ปรากฎว่าน้ำท่วมก็เลยยกเลิกไป พอทางหอศิลป์ศุภโชคชวนก็เลยยินดีที่จะนำมาจัดแสดงที่นี่
ส่วนเนื้อหาของนิทรรศการก็มาจากสิ่งที่พ่อเขียนไว้ว่าเขาผ่านชีวิตมามาก มายจนวันหนึ่งเขาอยากมีพื้นที่ อยากมีที่ว่างของตัวเอง เขาก็พยายามคิด พยายามสร้างที่ว่างของตัวเอง แล้วก็บรรจุสิ่งที่เป็นงานสร้างสรรค์ใส่เข้าไป สร้างงานศิลปะใส่เข้าไปในพื้นที่ของเขา" ทิพย์ แซ่ตั้ง ทายาทจ่าง แซ่ตั้ง ระบุ
4 ประเด็น ใน 4 ช่วงชีวิตในการทำงานศิลปะของ จ่าง แซ่ตั้ง ถูกนำเสนออย่างครบถ้วน ตั้งแต่การรับจ้างเขียนภาพบุคคลตามความต้องการของผู้จ้าง ซึ่งเป็นงานชุดเริ่มแรกที่แสดงถึงทักษะการถ่ายทอดสัมผัสทาง "ตา" สู่ "มือ" ขั้นเอก
"มีงานรับจ้างเขียนพ่อแม่ชาวบ้าน สมัยนั้นรูปบุคคลจะมีก็ด้วยการถ่ายรูป แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปโอกาสถ่ายรูปก็น้อย การจะมีรูปขนาดใหญ่ก็อาจจะไปค้นรูปเก่าๆ ที่มีตัวเองติดอยู่เล็กๆ ก็เอามาให้พ่อเขียนขยาย บางรูปหน้าถลอก หน้าหายไปบ้าง คนเขียนก็ต้องจินตนาการขึ้นมาด้วย และในเรื่องการเขียนภาพคนจ่างก็เป็นมือต้นๆ คนหนึ่ง พัฒนาจากความคล้าย สู่เหมือน เหมือนมาก จนกระทั่งมีชีวิต เราจะเห็นงานที่เขียนมีผิวหนังเป็นผิวหนัง ผ้าเป็นผ้า เส้นผมเป็นเส้นผม ไปจนกระทั่งแสดงออกถึงอารมณ์ของคนที่อยู่ในรูปได้"
ต่อเนื่องไปสู่งานในชุดภาพทิวทัศน์ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งนอกจากความงามที่ตาเห็น ภาพทิวทัศน์ของจ่างยังเป็นเครื่องมือสำหรับค้นหาและนำเสนอแนวทางบางอย่างใน การทำงานศิลปะ ก่อนที่จะก้าวต่อไปสู่การทำงานศิลปะแนวนามธรรม
"งานเขียนภาพคนกับงานทิวทัศน์ งานสองชุดนี้เหมือนเป็นรากของเขาที่ดูดซึมน้ำเลี้ยงไปที่ลำต้นก่อนจะแตกไป กิ่งก้านสาขาต่อไป พอผ่านจากตรงนี้ไปก็เป็นงานแนวนามธรรมที่เป็นการค้นพบตัวเองของเขา เพราะในยุคที่เขาทำงานแอบสแตรกในบ้านเรายังไม่มีใครทำ ประวัติศาสตร์ก็จะพูดถึงเขาในฐานะคนที่ทำงานแนวนี้เป็นคนแรกในประเทศไทย ที่สำคัญกว่านั้นคือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงสร้างทางศิลปะถูก กำหนดโดยชาวตะวันตก แต่ส่วนของพ่อผมเนื่องจากไม่ได้เรียนในระบบ ทำงานโดยการค้นคว้าด้วยตัวเอง ชุดความคิดของเขาจึงมีความเป็นตะวันออก เป็นพุทธ เป็นเซ็น เป็นเต๋า จ่างจึงน่าจะเป็นคนเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำงานในรูปแบบนามธรรม โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ผมคิดว่านั่นคือความสง่างามอย่างหนึ่งของศิลปะร่วมสมัยไทย" ทิพย์ อธิบาย
และสิ่งที่จะละเลยเสียมิได้เมื่อพูดถึงจ่าง แซ่ตั้ง คือผลงาน "บทกวี" และ "บทกวีรูปธรรม" อีกครั้งที่จ่างมีฐานะทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนที่เขียนบทกวีรูปธรรม หรือ "วรรณรูป" เป็นคนแรกในประเทศไทย ปฏิวัติกวีนิพนธ์แบบดั้งเดิมที่เสพรับด้วยการอ่าน แต่บทกวีรูปธรรมนำเสนอการเสพรับด้วยการ "มอง" เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกแนวทางการสร้างสรรค์ของจ่าง แซ่ตั้ง ที่แสดงความเป็นจ่าง แซ่ตั้ง อย่างเป็นเอกลักษณ์
ไม่เพียงผลงานศิลปะที่ จ่าง แซ่ตั้ง ทิ้งไว้ให้ศึกษา ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องราวของจ่างผ่านสื่อหนังสั้น “เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” โดยทิพย์ แซ่ตั้ง หนังสั้นรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี รางวัลดุ๊ก จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 ประจำปี 2012 ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ชมเข้าใจในความเป็น "จ่าง แซ่ตั้ง" ได้ดียิ่งขึ้น
โดย จ่าง แซ่ตั้ง จะมีพิธีเปิดนิทรรศการในวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 18.00 น. ณ หอศิลป์ “ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์” (Subhashok The Arts Centre หรือ S.A.C.) สุขุมวิท 33กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมจนถึง 31 มีนาคม 2556 (หอศิลป์ปิดทำการวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติมโทร.0 2662 0299 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. www.facebook.com/sacbangkok
ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/culture/20130204/488726/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87.html