นับเป็นโชคดีที่ได้ เข้าร่วมคณะไปชมงานในพื้นที่ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเคยได้ยินมาแต่ไหนแต่ไรว่า ที่นี่มีแปลงสาธิตการทำเกษตรไปจนถึงอุตสาหกรรมย่อยๆ ตั้งแต่การปลูกข้าว ไปจนถึงการสีข้าว หรือเลี้ยงวัวนมไปจนถึงโรงงานผลิตนมยูเอชที และนมอัดเม็ด ยี่ห้อ "จิตรลดา" หรือการวิจัยด้านพลังงานจนผลิตไบโอดีเซล
การเข้าเยี่ยมสวนจิตรลดา จะต้องทำจดหมายขออนุญาตเป็นหมู่คณะในการเข้าชมจะมีเจ้าหน้าที่นำเยี่ยมชม เริ่มตั้งแต่การดูวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ทำให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทเพื่อพสกนิกรไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเกษตรกร กระทั่งพระองค์มีพระราชดำริ "โครงการส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเกษตรสวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับ ในปี พ.ศ.2504 ตั้งแต่การเลี้ยงปลา การเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชไร่
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จึงมุ่งเน้นในแนวทาง ปรัญชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นี่จึงมีการศึกษา วิจัย และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำผลการศึกษาเผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนต่อไป
จากการไปเยี่ยมชมครั้งนี้เลยได้ทราบว่า ที่นี่มีทั้งโครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ คือโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และยังมีโครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ โดยนำรายได้มาใช้บริหารจัดการภายในโครงการ ต่อไป
หลังชมวิดีโอ มีการแบ่งกลุ่มนำชมสถานที่จริง ตั้งแต่ โรงสีข้าว แต่ก่อนถึงตรงนั้นยังได้เห็นรถไถทรงงานส่วนพระองค์คันแรก มียุ้งฉางไม้แบบดั้งเดิม ที่อาศัยภูมิปัญญาไทยล้วนๆ ในการเก็บรักษาข้าวเปลือกไม่ให้เสียหาย และยังป้องกันหนูเข้าไปลักขโมยกินด้วย และยังมีไซโลสมัยใหม่จากนิวซีแลนด์
ไม่ไกลกันเป็น โรงเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ที่ปัจจุบันจะเพาะในขวดเล็กๆ พอกล้วยไม้กินอาหารหมด โตเต็มขวดพอดี ก็ราวๆ 2-3 เดือน ถึงจะนำออกมาปลูกข้างนอกได้ กำลังได้รับความนิยมทีเดียว ด้านหน้าอาคาร ฉันเห็นขนุนต้นโต เจ้าหน้าที่บอกว่านี่เป็น "ย่าขนุน" เป็นขนุนทักษิณไพศาล ที่เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ทรงปลูก รวมอายุแล้วน่าจะถึง 150 ปี และด้วยพระราชดำริของในหลวง ได้มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จ และแพร่พันธุ์ปลูกมาถึงปัจจุบัน
กังหันน้ำชัยพัฒนา ที่หมุนระบายน้ำในลำคลองเล็กๆ ด้านในสวนจิตรลดา เป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยเพื่อบำบัดน้ำเสีย เพิ่มออกซิเจนให้น้ำ ไม่ไกลกันมีกังหันลมสูงใหญ่ อีกจุดที่ได้รับความสนใจคือ โรงนมยูเอชที ผ่านถึงตรงนี้เจ้าหน้าที่ยังนำนมผงอัดเม็ดมาแจกให้ชิมกันถ้วนหน้า นี่ก็เป็นกุศโลบายอีกอย่างที่จะให้เด็กๆ ได้รับแคลเซียมจากนมมากขึ้น เพราะเคี้ยวกันเพลินจริงๆ
กลุ่มผลิตกระดาษสาก็น่าสนุกไม่น้อย เจ้าหน้าที่ยังให้พวกเราทดลองวางลวดลายแข่งกัน ฉันเลยได้ฝากกลีบกุหลาบไว้ซะ 2-3 กลีบ ก่อนจะแวะไปชมโรงหล่อเทียนหลวง โรงผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซล โรงแปรรูปน้ำผลไม้และผลไม้อบแห้ง การเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายเกลียวทอง ฯลฯ จาระไนไม่หมด
พื้นที่ทุกตารางนิ้วที่แบ่งมาทำโครงการส่วนพระองค์ ใช้ไปอย่างคุ้มค่า เพื่อการทดลอง ศึกษา วิจัย และพัฒนา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพสกนิกรของพระองค์ แค่เศษเสี้ยวที่เห็นก็ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ฉันจะบอกว่า "ฉันรักในหลวง"
.......................................
(หมายเหตุ สวนจิตรลดา : ส่วนพระองค์เพื่อราษฎร : คอลัมน์ ถิ่นไทยงาม )