สงกรานต์ปีนี้จะไปเที่ยวไหนกันดี ใครที่ยังไม่มีที่เที่ยววันนี้แอดจะมาแนะนำที่น่า เที่ยวประเพณีงามๆ 14 แห่งทั่วไทยค่ะ
1. งานสงกรานต์ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ
(13 – 15 เมษายน 2558)
งานสงกรานต์ถนนข้าวสาร
จัดกันเป็นประจำทุกปี กับถนนข้าวสาร ร่วมสนุกสนานเรงร่าอย่างมีสีสัน กับการเล่นน้ำสงกรานต์ ถนนที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาววัยรุ่น ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาร่วมสนุกและคลายร้อนกันอย่างคึกคัก
2. เทศกาลวันสงกรานต์ชุมชนมอญสังขละบุรี , กาญจนบุรี
(13 – 18 เมษายน 2558)
เทศกาลวันสงกรานต์ชุมชนมอญสังขละบุรี
สัมผัสกับประเพณีสงกรานต์อันงดงามของชาวมอญ ในช่วงเช้ามีการทำบุญใส่บาตร โดยจะเห็นภาพชาวมอญที่เดินทูนถาดอาหารไว้บนศีรษะเพื่อนำไปถวายพระ ช่วงเย็นชมการขนน้ำไปอาบน้ำให้พ่อแม่ และผู้สูงอายุที่ไปถือศีลอยู่ประจำที่วัด และการขนทรายใส่ถุง หรือภาชนะเทินไปบนศีรษะ เพื่อนำไปก่อพระเจดีย์ทรายที่ลานหน้าเจดีย์พุทธคยา โดยในวันสรงน้ำพระ ชมการสรงน้ำพระตามแบบประเพณีของชาวมอญ ซึ่งเป็นการสรงน้ำผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ที่นำมามัดรวมต่อๆกัน เมื่อถึงเวลาสรงน้ำพระในพิธี ชาวบ้านผู้ชายจะพร้อมใจกันนอนเรียงต่อ ๆ กันเป็นสะพานมนุษย์ เพื่อให้พระเถระเดินย่ำไปบนหลังจนถึงบริเวณที่นั่งสรงน้ำ และหลังจากสรงน้ำเสร็จ ชาวบ้านผู้ชายก็จะช่วยกันอุ้มพระไปส่งที่บันได สำหรับในช่วงเช้าวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ยังมีพิธีแห่กองผ้าป่า และพิธียกฉัตรเจดีย์ทราย ความยาวนับกิโลเมตร ที่น่าตื่นตาตื่นใจให้ชมอีกด้วย
3. ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า , พระนครศรีอยุธยา
(13 – 15 เมษายน 2558)
ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า
ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ในอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก เป็นสงกรานต์แห่งเดียวในโลกที่นักท่องเที่ยวได้ร่วมเล่นน้ำร่วมกับช้าง (นักท่องเที่ยวสามารถมาเล่นน้ำกับช้าง ณ บริเวณด้านหน้าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา) กิจกรรมหลัก คือทำบุญตักบาตรหน้าวิหารพระมงคลบพิตร และสรงน้ำพระพุทธรูปและพระนเรศวรมหาราช
4. ประเพณีป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง , เชียงใหม่
(12 – 16 เมษายน 2558)
ประเพณีป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง
ประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง วันสงกรานต์ล้านนาในภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” เริ่มโดยในวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” วันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่าของชาวภาคเหนือ ซึ่งจะมีการจุดประทัดในช่วงเช้า เพราะมีความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่สิ่งเลวร้ายในปีก่อนให้พ้นไป และในช่วงเย็นจะมีงานบุญขนาดใหญ่ นั่นคือการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองด้วย ในช่วงนี้จะมีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ มารวมตัวกันอย่างหนาแน่นเพื่อร่วมชมที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน ที่เรียกกันว่า “วันเนา” หรือ “วันเน่า” จะเป็นวันที่ห้ามด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เช่นนั้นจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี ส่วนในวันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” เป็นวันที่ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม จากนั้นจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย พอถึงวันที่วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” ทุกคนก็จะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอขมา โดยในวันที่ 17 เมษายน “วันปากเดือน” ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำการปัดตัว เพื่อส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไป อันเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางภาคเหนือ หรือแผ่นดินล้านนาเท่านั้น
5. งานมหาสงกรานต์อีสาน – หนองคาย
(6 – 18 เมษายน 2558)
งานมหาสงกรานต์อีสาน - หนองคาย
เป็นรูปแบบสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ ที่ผู้ร่วมงานสามารถร่วมแรงศรัทธาสรงน้ำพระหลวงพ่อพระใส พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดหนองคาย โดยขบวนแห่หลวงพ่อพระใสที่ยิ่งใหญ่และแห่ทั่วเมืองหนองคาย นั้นจะปฏิบัติเพียงปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทย-ชาวลาวได้ร่วมสรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองในเทศกาลสงกรานต์
6. เป๊ปซี่ สาดซ่า ท้าความเย็น , นครราชสีมา
(13 – 15 เมษายน 2558)
เป๊ปซี่ สาดซ่า ท้าความเย็น
พบกับกิจกรรมสุดซ่า ชุ่มฉ่ำไปกับปืนฉีดน้ำใหญ่ยักษ์ ที่จะมาสาดความสุขให้คุณตลอด 3 วันเต็ม พร้อมชมคอนเสิร์ตจากวงร็อกแถวหน้า จาก จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ค็อกเทล เคลียร์ และเยสเซอร์เดย์ งานนี้มันส์หยดติ๋งแน่นอน!!
7. ประเพณีสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ ไทย-ลาว
(12 – 15 เมษายน 2558)
ประเพณีสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ ไทย-ลาว
สงกรานต์รื่นรมย์บุญปีใหม่ไทย- ลาว ตามแบบวัฒนธรรม 7 ชนเผ่าของชาวนครพนม ที่ยังคงหลงเหลือกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการรักษารูปแบบของประเพณีที่แสดงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวนครพนม ร่วมตักบาตรข้าวเหนียววันปีใหม่ไทย กิจกรรมแข่งขันสะบ้าทอย พิธีตบปะทาย (ก่อเจดีย์ทราย) ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ อิ่มอร่อยกับตลาดโบราณย้อนยุค และเล่นน้ำสงกรานต์ 7 ชนเผ่า พร้อมชมการแสดงวัฒนธรรม นอกจากนี้ที่ อำเภอเรณูนคร จะมีการฟ้อนรำผู้ไทที่มีความอ่อนช้อยงดงาม และความมีมนต์ขลังของพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน เพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน รวมทั้งขบวนแห่นางสงกรานต์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่งดงาม
8. สงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน ถนนข้าวเหนียว , ขอนแก่น
(5 – 15 เมษายน 2558)
สงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน ถนนข้าวเหนียว
ภาพจาก http://www.facebook.com/songkrankhonkaen
เชิญร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ ท่ามกลางกลิ่นอายแบบอีสาน ชมการประกวดเกวียนบุปผชาติ พิธีรดน้ำผู้สูงอายุ กิจกรรมปิดถนนเล่นน้ำสงกรานต์ ณ ถนนข้าวเหนียว การประกวดธิดาดอกคูณ-เสียงแคน ตลอดจนการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP
9. ประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย , สุโขทัย
(8 – 12 เมษายน 2558)
ประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย
“สงกรานต์ศรีสัชนาลัย” ประเพณีที่ชาวศรีสัชนาลัยสืบทอดต่อกันมาในช่วงสง-กรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยคำว่า “โอย”หมายถึงทำ เมื่อร่วมกับคำว่า “ทาน” จึงหมายความถึงการ “ทำทาน” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิถีของคนสุโขทัยโบราณที่ถูกจารึกไว้ ดังนั้นสงกรานต์สรงน้ำโอยทาน ศรีสัชนาลัย จึงเป็นเทศกาลสงกรานต์ที่ควรค่าต่อการร่วมงานอีกพื้นที่หนึ่ง และเป็นสงกรานต์ที่ชาวศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยได้ร่วมรักษาและสืบทอดรูปแบบทางวัฒนธรรมอันดีงามจนถึงปัจจุบัน
10. เทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร , นครศรีธรรมราช
(12 – 14 เมษายน 2558)
เทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร
ประเพณีแห่นางดาน เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย ดังนั้นในเทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงมีรูปแบบแตกต่าง เนื่องจาก เป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองมีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญเมืองชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีปฎิบัติที่สืบเนื่องมาแต่โบราณเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่มีคุณค่าต่อสังคม ครอบครัว ศาสนาและวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสานต่อเพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม
11. ประเพณีสงกรานต์สุพรรณบุรี ประจำปี 2558
(13 – 14 เมษายน 2558)
ประเพณีสงกรานต์สุพรรณบุรี
รูปแบบงานสงกรานต์ตามแบบฉบับของสงกรานต์ภาคกลางที่ควรสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย อันดีงามซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อให้ชาวสุพรรณบุรีและนักท่องเที่ยวได้มีความสุขและร่วมรักษาสืบสานประเพณีไทย
12. งานประเพณีสงกรานต์หาดใหญ่ และมิดไนท์สงกรานต์ , สงขลา
(11 – 15 เมษายน 2558)
งานประเพณีสงกรานต์หาดใหญ่
ทำบุญตักบาตรกันในช่วงเช้า ชมการแสดง และกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์สุดมันส์ตอนกลางคืน จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสนุกสนาน
13. ประเพณีก่อพระทราย วันไหลบางแสน , ชลบุรี
(16 – 17 เมษายน 2558)
ประเพณีก่อพระทราย วันไหลบางแสน
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุข ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า งานทำบุญวันไหล คือ การที่สมาชิกในชุมชนของหมู่บ้านต่างๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของไทย แต่ในปัจจุบันการละเล่นและประเพณี ดั้งเดิมบางอย่างเริ่มจะสูญหายไปเทศบาลเมืองแสนสุขจึงได้อนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี และการละเล่นพื้นบ้านอันดีงามไว้ให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
14. ประเพณีสงกรานต์พระประแดง , สมุทรปราการ
(17 – 19 เมษายน 2558)
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง หรือเดิมเรียกว่า “สงกรานต์ปากลัด” เป็นรูปแบบสงกรานต์ที่คงรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ – ไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณเอกลักษณ์ของสงกรานต์พระประแดงโดยเฉพาะในวันท้ายของสงกรานต์ (ถัดจากวันที่ ๑๓ เมษายน อีกหนึ่งอาทิตย์) ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่ที่มีความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนสาวรามัญ–หนุ่มลอยชาย ที่ยังคงรักษาประเพณีเก่าๆ ไว้อย่างมั่นคงตลอดถึงเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ และชุดลอยชาย เพื่อแห่นก – แห่ปลาไปทำพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืน ยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกิริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองาม ซึ่งท่านผู้สนใจควรจะได้ไปชมด้วยตนเอง ซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้โดยเคร่งครัดตลอดมา จนถึงทุกวันนี้
ขอขอบคุณ Bloggang.com