น่าสนใจว่า เมื่อผ่าหลังอาณาจักรน้ำมันโลก เบื้องหลัง 25 บริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดในทำเนียบฟอร์บส เพื่อดูว่าใครเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ กลับไม่ใช่ผู้บริหารจากเหล่าบริษัทบิ๊กเนม หากแต่เป็น "ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน" แห่งรัสเซีย ที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริงหลังฉากโลกน้ำมัน
"ฟอร์บส" ระบุว่า อิทธิพลของปูตินมี จุดเริ่มมาจาก "ก๊าซพรอม" (Gazprom) บริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่อันดับ 2 ของทำเนียบฟอร์บส และ "รอสเนฟต์" (อันดับ 15) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลมอสโกถือหุ้นใหญ่ และอยู่ภายใต้การดูแลตรวจสอบของประธานาธิบดีปูติน
ฟอร์บส ตั้งข้อสังเกตว่า ปูตินใช้ ก๊าซพรอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองในปี 2549 เพื่อหนุนส่งให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น ในฐานะที่ก๊าซพรอมแทบจะผูกขาดการขายก๊าซให้กับตลาดยุโรปตะวันตก และยังใช้แนวทางนี้กับรอสเนฟต์ โดยเพิ่งแต่งตั้งคนสนิทและเจ้าพ่อพลังงาน "อิกอร์ เซชิน" ให้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท
ปูตินยัง มีบทบาทเชื่อมโยงกับ "ลุคออยล์" (อันดับ 18) บริษัทน้ำมันรัสเซียอีกแห่งที่แม้รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่ก่อตั้งโดยอดีตรัฐมนตรีน้ำมัน "วากิต อเล็กเปรอฟ" มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่ง 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ปรึกษาของปูติน
นอกจากนี้ ยักษ์น้ำมันรัสเซียยังดำเนินการร่วมทุน และหารือเกี่ยวกับการสำรวจแหล่งพลังงานในอาร์กติก รวมไปถึงการดึงดูดบริษัทน้ำมันรายอื่นๆ อย่างรอยัล ดัตช์ เชลล์ (อันดับ 7) ของอังกฤษ ที่ร่วมมือกับก๊าซพรอมในการพัฒนาเกาะซัคคาลิน
ปีนี้ เอ็กซ์ซอน โมบิล (อันดับ 4) บริษัทน้ำมันรายใหญ่ เพิ่งร่วมทุนกับรอสเนฟต์ เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานในอาร์กติก และแหล่งบาเชนอฟในไซบีเรีย ซึ่งประเมินว่ามีขนาดใหญ่กว่าแหล่งบัคเคนในนอร์ทดาโกตาของสหรัฐ 80 เท่า หากการสำรวจประสบความสำเร็จ อาจก่อให้เกิดการลงทุนขนาดมหึมา 5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงหลายปีนับจากนี้
ด้าน "บีพี" บิ๊กน้ำมันอังกฤษ ที่อยู่อันดับ 6 ในโผฟอร์บส พยายามจะทำข้อตกลงกับรอสเนฟต์ แต่ถูกสกัดจากคนใหญ่คนโตในรัสเซียที่อยู่เบื้องหลังบริษัทร่วมทุน "ทีเอ็นเค-บีพี" ขณะที่รอสเนฟต์เร่งเครื่องร่วมมือในลักษณะนี้กับ "สเตตออยล์" บริษัทน้ำมันของนอร์เวย์ (อันดับ 20) เช่นเดียวกับ
"เอนี" จากอิตาลี (อันดับ 19) ซึ่งประธานาธิบดีปูตินเป็น ประธานในงานลงนามข้อตกลงร่วมกันด้วย โดยเอนีเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับทางการเครมลินมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี แห่งอิตาลี
สายสัมพันธ์กับเอนียังช่วยเปิดประตูให้ก๊าซพรอมของรัสเซีย เข้าไปในโครงการสำรวจก๊าซธรรมชาติในแอฟริกาเหนือ รวมถึงลิเบียที่อดีตผู้นำ "มูอัมมาร์ กัดดาฟี" เพิ่งถูกโค่นอำนาจ
ในปี 2553 ปูตินและ ประธานาธิบดี "ฮูโก้ ชาเวซ" แห่งเวเนซูเอลา ลงนามข้อตกลงที่รัสเซียขายอาวุธและเทคโนโลยีด้านพลังงานให้เวเนซูเอลา รวมถึงช่วยสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ก๊าซพรอมและรอสเนฟต์ของรัสเซียยังปล่อยกู้ 4 พันล้านดอลลาร์ ให้ "เปโตรเลออส เดอ เวเนซูเอลา" (อันดับ 22) แลกกับการเข้าถึงโอกาสด้านน้ำมันและก๊าซในเวเนซูเอลา
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างปูตินกับ กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก ไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะแม้รัสเซียจะไม่ใช่สมาชิกโอเปก แต่กลับส่งออกน้ำมันมหาศาลไม่แพ้ซาอุดิอาระเบีย และเป็นคู่แข่งกับ "ซาอุดิ อารามโค" บริษัทน้ำมันซาอุฯ ที่ครองเบอร์ 1 ทำเนียบยักษ์น้ำมันโลกของฟอร์บส ซึ่งนับจากปีที่แล้ว ปูตินมองหาวิธีสานสัมพันธ์กับโอเปกมากขึ้น ทั้งที่เคยพยายามจัดตั้งกลุ่มคล้ายๆ โอเปก แต่ประสบความล้มเหลวก่อนหน้านี้
ขณะที่สหรัฐพยายามผลักดันก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (shale gas) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่คาดหวังให้ได้รับความนิยมแทนที่แหล่งพลังงานชนิดเดิมๆ จึงกลายเป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงรัสเซีย ทำให้มอสโกต่อต้านเทคโนโลยีนี้ และเมื่อจะมีการสำรวจแหล่งพลังงานในไซบีเรีย รัสเซียจึงไม่อยากพลาดโอกาสนี้
ขอบคุณที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/foreign/20120718/461971/%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87.html