โอกาสในการแสวงหางานทำสำหรับบัณฑิตมหาวิทยาลัยในประเทศพม่าช่างเป็นสิ่ง ไม่แน่นอนเอาเสียเลย ในความเป็นจริงบ่อยครั้งสิ่งที่พวกเขาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยมักเป็นทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
อย่างพวกที่จบฟิสิกส์ก็ไม่ได้กลายเป็นนักฟิสิกส์ แต่อาจต้องไปทำงานเป็นโซเฟอร์ขับแท็กซี่ หรือพวกบัณฑิตทางด้านคณิตศาสตร์ ก็อาจไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์ แต่อาจจะกลายเป็นคนถีบรถสามล้อเร่ขายของ บางครั้งเราอาจเห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่จบมาทางด้านสาขาประวัติ ศาสตร์ และผู้จบปริญญาอีกมากมาย ที่ทำงานไม่ตรงกับปริญญาที่ได้รับ เช่น ไปทำงานเป็นโบรกเกอร์ หรืองานแปลก ๆ อีกมากมายที่ดูด้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อบัณฑิตเหล่านี้เดินทางไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ชายมักจะลงเอย ด้วยตำแหน่งงานในฐานะลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ขณะที่ผู้หญิงเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือไม่ก็แม่บ้าน ทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีทักษะเกี่ยวกับงานเหล่านี้เลย เพราะมันคนละเรื่องกับสิ่งที่เรียนมาในมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง
รัฐบาลพม่าล้มเหลวในการสร้างงานใหม่ให้สอดคล้องกับบัณฑิตที่จบออกมา ทำให้ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนับหมื่นคนต้องรอตำแหน่งงานว่างจากภาครัฐ เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะที่จบมาทางสาขาแพทย์ มีมากกว่า 6,000 คน ที่ต้องอยู่ในสภาพไม่มีงานทำ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์อัตราการว่างงานของพม่า ประเทศที่มีประชากร 60 ล้านคนจะอยู่ที่อัตรา 5.5%ซึ่งห่างกันมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ที่มีอัตราว่างงานอยู่เพียง 0.7%