ครั้งนั้น……หลวงพ่อคูณเริ่มจาริกธุดงค์ออกจากวัดถนนหักใหญ่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าสู่จังหวัดหนองคาย เส้นทางธุดงค์ของหลวงพ่อคูณยึดเอาแนวชายดงชายเขาอันเปล่าเปลี่ยวเป็นเส้นทาง โคจร จะหยุดยังปักกลดบำเพ็ญสมณธรรม ก็ถือเอาทำเลชัยภูมิซึ่งห่างไกลชุมชนหมู่บ้านพอสมควร หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ เดินเท้าไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงจังหวัดหนองคาย จากนั้นก็อาศัยเรือข้ามแม่น้ำโขงไปขึ้นยังฝั่งลาว
{youtube width="470"}eUr4XDIappw{/youtube}
ราชอาณาจักรลาวสมัยนั้น ความเจริญมีอยู่แค่เมืองหลวงคือนครเวียงจันทน์เท่านั้นเอง เลยจากเขตเมืองหลวงไปแล้วก็คือป่าเขาลำเนาไพรซึ่งยังเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ชาวลาวดำเนินชีวิตด้วยความเป็นอยู่เรียบง่าย ทำไร่ทำนาแค่พอกินพอใช้ไปวันๆ แต่ประชาชนซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคนยากจนส่วนใหญ่นี้ต่างมีจิตศรัทธาเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
หลวง พ่อคูณไม่ เคยเข้าไปในประเทศลาวมาก่อน แต่ท่านไม่รู้สึกปริวิตกแม้แต่น้อย เพราะจุดหมายปลายทางของพระธุดงค์กรรมฐานนั้นคือการไปให้ถึงโมกขธรรมอันสูง สุด มิใช่เดินทางไปท่องเที่ยวแสวงหาความรื่นรมย์สนุกสนานหรือสุขสบายใดๆ ในทางโลกเส้นทางโคจรของท่านจึงมุ่งสู่ความสงบสงัดเป็นทางเอก และอาศัยบิณฑบาตเท่าที่จะผ่านไปพบเขตคามชุมขนเล็กๆ ตามรายทางเพียงเพื่อประคองสังขารให้ดำรงอยู่เท่านั้น พรรษาแรกในแผ่นดินลาว หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ปวารณาจำพรรษาอยู่ที่ภูควาย โดยอาศัยเถื่อนถ้ำแห่งหนึ่งเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรตลอดพรรษา โดยมีชาวบ้านป่าเชิงเขาอุปัฎฐากเรื่องอาหารขบฉัน ซึ่งท่านจะลงจากภูสูงมาบิณฑบาตที่หมู่บ้านนั้นทุกวัน
ออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อคูณจึงลงจากภูควาย จาริกธุดงค์ต่อไปโดยมุ่งหน้าไปทางทุ่งไหหิน เมื่อไปถึงทุ่งไหหินได้หยุดยั้งปักกลดลง ณ ที่นี้ ตลอด อาณาบริเวณของทุ่งไหหินเป็นที่ราบกว้างไกลสุดสายตา คล้ายกับว่าเป็นทำเลที่ตั้งเมืองเก่าโบราณซึ่งได้ล่มสลายสูญหายไปหมดสิ้น ไม่เหลือให้เห็นแม้แต่ซากปรักหักพัง คงมีแต่สิ่งอัศจรรย์ทิ้งเอาไว้กลาดเกลื่อนไปตลิดที่ราบของท้องทุ่งนั่นคือ “ไหหิน”
ไหหินเหล่านี้เป็นแท่งหินทรง กลม ตรงกลางกลวงเว้าลึกลงไป แต่ไม่ทะลุออกไปอีกด้านหนึ่ง หินแต่ละแท่งมีลักษณะคล้ายไหหนึ่งข้าวของชาวลาวทั่วไป ไหหินซึ่งวางกระจายกลาดเกลื่อนมีหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่ บางไหใหญ่ขนาดหลายคนโอบ และมีน้ำหนักเป็นตันๆ
ไม่ มีตำนานหรือประวัติบอกกล่าวเล่าถึงที่มาของไหหินเหล่านี้อย่างชัดเจน จึงทำให้ไม่รู้ว่าเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหรือถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือ มนุษย์ และถ้าเป็นไหหินซึ่งมนุษย์ทำขึ้นมา พวกเขามีจุดประสงค์ทำขึ้นมาเพื่ออะไรและทำไมถึงได้มีมากมายนับร้อยๆ ไหเช่นนั้น
เมื่อหลวงพ่อคูณมาถึงทุ่ง ไหหินเป็นครั้งแรกนั้น เป็นเวลาโพล้เพล้มากแล้ว ท่านจึงปักกลดใกล้ๆ กับพลาญหินราบเรียบส่วนหนึ่งของพลาญหินเป็นโขดหินชะเงื้อมสูงพอสมควร พอได้อาศัยเป็นที่บังลมอย่างดี เนื่องจากกระแสลมซึ่งพัดผ่านทุ่งไหหินแห่งนี้ออกจะรุนแรงเอาการอยู่
หลัง จากสวดมนต์ทำวัตรแล้ว หลวงพ่อคูณก็เข้าที่ภาวนาภายในกลด คืนนั้นแม้จะเป็นคืนแรม แต่แสงดาวซึ่งพราวเต็มท้องฟ้าก็ช่วยบรรเทาความมืดไปได้หลายส่วน ทั่วท้องทุ่งซึ่งมีชื่อว่า “ทุ่งไหหิน” แห่งนี้ดูอ้างว้างและเปล่าเปลี่ยวน่าพรั่งพรึงอย่างยากที่จะอธิบายได้ถูก ถ้วน ทว่าหลวงพ่อคูณมิได้ใส่ใจต่อความสงัดวังเวงซึ่งครอบคลุมไปทั่วอาณาบริเวณ หากเพ่งไปที่จิตเพื่อรวมเป็นสนามสู่กรรมฐานตามลำดับ
แต่ สำหรับคืนนี้ จิตของหลวงพ่อคูณดูเหมือนจะกระสับกระส่ายคล้ายกับไม่ยอมให้สติควบคุมง่ายๆ แต่หลวงพ่อก็ไม่ยอมให้จิตมันแส่ส่ายนำไปสู่ภายนอกได้
และในวาระนั้น……….หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธก็ได้เผชิญกับความอัศจรรย์ ณ ทุ่งไหหิน
จู่ๆ ก็มีเสียงอื้ออึงคล้ายพายุกล้ากำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ยิ่งใกล้เข้ามาเสียงอื้ออึงก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ประหนึ่งกระแสลมอันบ้าคลั่งจะกวาดเอาสรรพสิ่งในท้องทุ่งไหหินให้ปลิวหายไปจน หมดสิ้น
แต่เมื่อเสียงนั้นเคลื่อนมาจะ ถึงกลดของหลวงพ่อคูณ เสียงของกระสแสลมกลับกลายเป็นเสียงโห่ร้องอึงคนึงของคนนับพันนับหมื่น ประหนึ่งมีกองทัพกำลังเคลื่อนขบวนยาตราตรงเข้ามา
หาก ผู้ซึ่งเผชิญกับปรากฎการณ์อันชวนให้ขนพองสยองเกล้าดังที่ปรากฎ ขาดสติหรือมีกำลังจิตหวั่นไหวอ่อนแอ อาจจะเกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงถึงขั้นวิปลาสไปก็ได้ แต่สำหรับหลวงพ่อคูณนั้นท่านเคยผ่านประสบการณ์ความกลัวมาหนักหนาสาหัสยิ่ง กว่านี้ เรียกว่าเคยกลัวจนถึงขีดสุด กระทั่งไม่รู้จักความกลัวใดๆ ทั้งสิ้นเสียแล้ว……..เพียงแค่เสียงมากระทบหูเท่านี้จึงไม่ทำให้ท่านเกิดความ หวั่นไหวได้
จากเสียงโห่ร้องอึงอลบอก บ่งถึงความดุร้ายกระหายเลือดก็พลันเปลี่ยนไป กลายเป็นเสียงร่ำไห้คร่ำครวญของผู้ซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน เหลือจะกล่าว และเสียงเช่นนี้ได้โหยหวยระงมไปทั่วท้องทุ่ง
หลวงพ่อคูณกล่าวในภายหลังว่า ณ ทุ่งไหหินแห่งนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านไม่เคยคิดว่าจะได้ยินก็ได้ยิน ไม่เคยคิดว่าจะเห็นก็ได้เห็น
ทุ่ง ไหหินมีอดีตซับซ้อนทับถมกันอยู่จนยากจะแยกแยะออกมาได้ว่าเป็นยุคใดสมัยใด แต่ที่แน่นอนก็คือ ณ ที่ราบของท้องทุ่งแห่งนี้ เป็นที่สถิตย์ของดวงวิญญาณสัมภเวสีนับไม่ถ้วยซึ่งไม่มีที่จะไป ได้แต่เร่ร่อนวนเวียนอยู่ด้วยบุรพกรรมของตัวเองอย่างน่าเวทนา
หลวงพ่อคูณกระทำได้ก็แต่เพียงสำรวมจิตเข้าสู่กุศลแล้วแผ่เมตตาออกไปไม่มีประมาณ เพื่อชี้ทางสู่สุคติแก่วิญญาณทรมานทั้งหลายเหล่านั้น
คืน นั้นผ่านไป เมื่อได้อรุณแล้วหลวงพ่อคูณก็ออกบิณฑบาตไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งอยู่ไกลลิบ พวกชาวบ้านซึ่งเป็นคนป่าคอยดูเหมือนจะไม่คุ้นหรือไม่มีศรัทธาในการทำบุญใส่ บาตร เหตุนี้หลวงพ่อคูณจึงได้เพียงข้าวเหนียวมาปั้นเดียว ไม่มีกับข้าวคาวหวานใดๆ ทั้งสิ้น แต่ท่านก็มิได้อนาทรร้อนใจ ได้อะไรก็ฉันเท่านั้น เพราะฉันเพียงเพื่อเลี้ยงดูสังขารให้มันแค่ดำรงอยู่ มิใช่ฉันเพราะต้องการความเอร็ดอร่อยแต่อย่างใด
หลวง พ่อคูณหยุดยั้งอยู่ที่ทุ่งไหหินเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะเห็นว่าไม่เป็นที่สัปปายะสมควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ประกอบกับผู้คนจำนวนน้อยซึ่งอยู่อาศัยในเขตชายทุ่งไหหินเป็นชาวป่าชาวเขาที่ ค่อนไปทางป่าเถื่อน ไม่นับถือพระไม่นับถือพุทธ ทางเลื่อมใสบูชาลัทธิผีบรรพบุรุษ มีเจ้าป่าเจ้าเขา หลวงพ่อคูณจึงได้เก็บบริขารออกจากทุ่งไหหิน ธุดงค์รอนแรมต่อไปโดยบ่ายหน้าสู่ทิศที่ตั้งของนครเวียงจันทน์
ในพรรษานั้น หลวงพ่อคูณจำพรรษาอยู่ที่วัดหนึ่งในนครเวียงจันทน์
หลัง ออกพรรษาแล้ว………หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้อำลาเจ้าอาวาสผู้มีเมตตาอารีออกเดินธุดงค์ต่อไปอีก และยังไม่คิดกลับเมืองไทย เนื่องจากพอใจในสภาพโดยทั่วไปของแผ่นดินลาวซึ่งอุดมไปด้วยป่าเขาอันรื่นรมย์ เหมาะสมต่อการบำเพ็ญสมณธรรมขจัดกิเลสให้เบาบางไปจนถึงสูญสิ้นในที่สุด
หลวง พ่อคูณจาริกธุดงค์ไปเรื่อยๆ หากพบหมู่บ้านก็พอได้อาศัยโคจรบิณฑบาต หากไม่พบพานชุมชนคนอาศัยก็เท่ากับอดอาหารงดฉันไปโดยปริยาย แต่มิได้ทำให้เดือดร้อนวุ่นวายอะไรนัก เพราะจิตใจนั้นอิ่มเอิบเบิกบานอยู่ด้วยธรรมตลอดเวลา
จาก เวียงจันทน์ หลวงพ่อคูณจาริกไปจนถึงเมืองหลวงพระบางและได้จำพรรษาที่หลวงพระบางอีกหนึ่ง พรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วก็ออกธุดงค์จากทางเหนือล่องลงมาทางใต้ของประเทศ กระทั่งเข้าเขตเมืองผาเลน
ห่างจาก เมืองผาเลนไปไม่ไกลนัก มีทิวเขาโอบล้อมทอดตัวสลับซับซ้อนอยู่ด้านหนึ่ง เมื่อหลวงพ่อคูณจาริกผ่านเชิงเขาขนาดย่อมก็พบถ้ำแห่งหนึ่งดูร่มรื่นสงัด เงียบเป็นที่น่าพอใจ ไม่ไกลจากถ้ำมีธารน้ำไหลใสสะอาด พออาศัยใช้เป็นน้ำสรง น้ำดื่มได้สะดวก และที่ตีนเขามีหมู่บ้านหลายหลังคาเรือน ชาวบ้านเหล่านั้นก็แสดงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อ ชาวบ้านเห็นหลวงพ่อคูณมาปักกลดบำเพ็ญธรรมอยู่ที่ถ้ำผาเลน ก็พากันปีนป่ายไต่เขาขึ้นมานมัสการท่านถึงในถ้ำ แล้วนิมนต์ให้ท่านอยู่ที่ถ้ำนี้นานๆ เพื่อที่พวกตนจะได้มีโอกาสทำบุญใส่บาตรสร้างกุศลกันบ้าง เพราะไม่มีพระสงฆ์องค์เจ้าผ่านมานานแล้ว หลวงพ่อคูณก็รับนิมนต์ ทำให้ชาวบ้านพากันปีติยินดีกันทั่วหน้า และกล่าวย้ำแก่ท่านว่าอย่าได้วิตกกังวลเรื่องภัตตาหาร พวกเขาจะเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรทุกๆ เช้ามิให้ขาด
คืน นั้น…….หลวงพ่อคูณเข้าไปอาศัยถ้ำใหญ่แห่งนั้นเป็นที่บำเพ็ญเพียรด้วยความ รู้สึกปลอดโปร่งเป็นที่น่าพอใจ เพราะอากาศภายในถ้ำไม่อับชื้น มีกระแสลมไหลผ่านวนเวียนตลอดเวลา
ตราบกระทั่ง ถึงเวลาได้อรุณ…..ขอบฟ้าเริ่มเรืองแสงจางๆ หลวงพ่อคูณจึงเตรียมตัวออกบิณฑบาต แต่อากาศขณะนั้นยังขมุกขมัวมืดมัวไปทั่ว ประกอบกับภูมิอากาศบนภูเขามีหมอกลงจัดทำให้มองออกไปไกลๆ ไม่ได้เลย
หลวง พ่อคูณสะพายบาตรเรียบร้อยก็ออกจากบริเวณหน้าถ้ำเดินลงมาตามทางเล็กๆ ซึ่งคดเคี้ยวและลาดชัน มาจนถึงทางแยกลงทางที่ทอดลงไปยังหมู่บ้านตีนเขา จึงตัดสินใจไปทางซ้าย
เส้นทางสายนี้อ้อมภูเขาลาดลงไปไม่ชันนัก แต่ทางเดินออกจะรกเรื้อด้วยหญ้าและวัชพืชคลุมหน้าดินค่อนข้างหน้า
เดิน ตามทางไปสักครู่ใหญ่ความสว่างได้เพิ่มขึ้นและหมอกก็จางลง หลวงพ่อคูณเพิ่งสังเกตเห็นว่าทางที่ท่านเดินผ่านไปนั้นกว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งไปบรรจบที่ราบกว้าง มีเงาตะคุ่มของกองอิฐเก่าๆ ซึ่งทะลายลงมาระเกะระกะ และมีซากกำแพงปรักหักพังเป็นส่วนๆ อยู่ในบริเวณนั้น
หลวง พ่อคูณรู้สึกแปลกใจเหมือนกันที่เห็นภูมิประเทศออกจะพิกลอยู่ ท่านจำได้ว่าตอนที่เดินผ่านหมู่บ้านก่อนจะขึ้นภูเขามาถึงถ้ำไม่เคยเห็นกอง อิฐกองหินหรือซากกำแพงแม้แต่น้อย แต่เหตุใดเช้าวันนี้จึงได้มีสภาพผันแปรเปลี่ยนไปผิดตามากเหลือเกิน หรือว่าท่านอาจจะมาผิดทาง เลยเดินเข้าหมู่บ้านด้านซึ่งไม่เคยผ่านมาก่อน
แล้ว ความคิดซึ่งไม่แน่ใจว่ามาผิดทางก็พลันหมดไป เมื่อแลไปข้างหน้าชาวบ้านทั้งหญิงชายหลายคนยืนถือขันข้าวและถาดใส่อาหารรอ คอยใส่บาตรอย่างเงียบๆ อยู่ข้างทางเดิน หลวงพ่อคูณจึงเดินเข้าไปด้วยกริยาอันสำรวม สายตาทอดต่ำเพียงมองเห็นเลยไปแค่ 3 – 4 ก้าว
หลวงพ่อคูณเปิดฝาบาตร รับข้าวและกับข้าวซึ่งห่อด้วยใบตองเป็นห่อเล็กๆ ไปจนสุดแถว แล้วท่านก็เดินกลับโดยอาการอันสงบเช่นเดิน ขณะที่เดินย้อนกลับขึ้นเขาหลวงพ่อคูณยังมีข้อสะกิดใจสงสัยอยู่อีกประกากร หนึ่งก็คือ ทำไมชาวบ้านที่นำอาหารมาใส่บาตรจึงเงียบเชียบกันเหลือเกิน
ตลอด เวลาที่ท่านเดินผ่าน ไม่มีใครสนทนาพูดคุยกันเลย ทุกคนไม่ว่าจะใส่บาตรแล้วหรือกำลังรอใส่บาตรต่างก็ยืนนิ่งทื่อๆ ยืนอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายหรือเดินไปเดินมาตามประสาคนทั่วไป ไม่มีการทักทายหรือพูดคุยซึ่งกันและกัน ซึ่งออกจะผิดวิสัยธรรมชาติของสังคมคนหมู่มากทำให้บรรยากาศดูสงัดวังเวงบอก ไม่ถูก
หลวงพ่อคูณครุ่นคิดเพียงเท่า นี้ก็เลิกใส่ใจ ด้วยเห็นว่าไร้ประโยชน์ไร้สาระที่จะนำมาเป็นกังวล ท่านเดินมาตามเส้นทางเดิมซึ่งทอดอ้อมเขาขึ้นมาจนถึงถ้ำ
หลัง จากฉันเรียบร้อยแล้วหลวงพ่อคูณได้นำบาตรไปชำระล้างที่ลำธาร เศษข้าวเศษอาหารซึ่งเหลือจากฉันได้นำมากองไว้บนก้อนหินเพื่อให้ทานแก่สัตว์ ตัวเล็กๆ อีกต่อหนึ่ง แล้วหลวงพ่อก็นำบาตรกลับมาผึ่งแดดที่หน้าถ้ำ จากนั้นท่านจึงเข้าที่ปฏิบัติทางจิตนั่งสมาธิสลับกับการเดินจงกรม กระทั่งครบกำหนดเวลาในตอนเย็นหลวงพ่อคูณก็ไปสรงน้ำที่ลำธาร
คราว นี้ท่านรู้สึกแปลกใจที่เห็นเศษข้าวเศษอาหารซึ่งท่านวางกองไว้บนก้อนหินมิได้ พร่องไปเลย แสดงว่าไม่มีสัตว์เล็กๆ เข้ามากินแม้แต่ตัวเดียว ซึ่งเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องแปลกเอาการ
เพราะ ตลอดระยะเวลาที่ท่านเดินธุดงค์ หากมีเศษข้าวเศษอาหารเหลือจากฉันแล้วท่านวางกองทิ้งไว้ สัตว์เล็กๆ จะเข้ามากินจนหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือทุกครั้ง
แต่สำหรับครั้งนี้ แม้แต่มดตัวเล็กๆ ก็ยังไม่มาตอมเสียด้วยซ้ำ
เช้า วันต่อมา………..ก่อน ออกไปบิณฑบาต หลวงพ่อคูณแวะไปดูกองเศษข้าวและเศษอาหารเพราะกลัวจะบูดเน่า ปรากฎว่าหายไปหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเศษเล็กเศษน้อยตกค้างเอาไว้เลย เมื่อเข้าไปพิจารณาดูใกล้ๆ ยิ่งน่าแปลกหนักเข้าไปอีก เพราะถ้าหากมีสัตว์มากินเศษอาหารจะต้องทิ้งร่องรอยเอาไว้ แต่เท่าที่หลวงพ่อคูณเห็นขณะนั้น บนก้อนหินเกลี้ยงเกลาประหนึ่งไม่เคยวางเศษอาหารใดๆ เอาไว้เลย
ดุจ….เศษอาหารทั้งหมดหายวับไปเฉยๆ
หลวง พ่อคูณปฏิบัติสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำผาเลนได้ 3 – 4 วัน ชาวบ้านตีนเขาหลายคนก็ขึ้นมาหาหลวงพ่อถึงที่ถ้ำด้วยความเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ท่านมาอยู่ถ้ำผาเลนไม่เคยลงไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านเลยทั้งๆ ที่รับนิมนต์พวกเขาไว้แล้ว
หลวงพ่อคูณบอกว่าได้ลงเขาไปบิณฑบาตทุกเช้าไม่ได้เว้นแม้แต่วันเดียว ทำไมชาวบ้านจึงกล่าวหาว่าท่านไม่ไปบิณฑบาตล่ะ
ชาว บ้านก็พากันงุนงงสงสัย เพราะทั่วทั้งหมูบ้านไม่มีใครเห็นหลวงพ่อ อีกทั้งข้าวปลาอาหารซึ่งทำเตรียมไว้เพื่อใส่บาตรก็ค้างเก้อมาทุกวัน จะว่าหลวงพ่อคูณหลงทางไปบิณฑบาตหมู่บ้านอื่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดระแวดนี้ไม่มีหมู่บ้านอื่นใดอีกมีแต่ป่าเขาและดงไม้ไปตลอด
ชาว บ้านสอบถามหลวงพ่อคูณว่าท่านลงจากเขาไปทางทิศไหน หลวงพ่ออธิบายว่าออกจากถ้ำแล้วก็ไปตามทางเดินลงเขา พอถึงทางแยกก็เลี้ยวซ้ายเป็นทางอ้อมภูเขาไป
ชาว บ้านพอรู้ว่าหลวงพ่อคูณไปทางไหน พวกเขาก็พูดแทบจะพร้อมๆ กันว่า “หลวงพ่อไปบิณฑบาตกับผีเสียแล้ว” จากนั้นจึงได้อธิบายต่อไปว่าเส้นทางที่จะลงจากเขาไปสู่หมู่บ้านนั้นต้องแยก เข้าทางเดินขวามือ หากเลี้ยวซ้ายซึ่งเป็นทางเดินเก่าๆ อ้อมภูเขาไปนั้นคือทางไปเมืองร้างมาแต่โบราณกาล ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยแม้แต่คนเดียว ชาวบ้านตีนเขายังไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไปในเขตเมืองร้างแห่งนั้น เพราะเคยมีคนไปเจอภูตผีปิศาจน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงที่เมืองร้างมาแล้ว
หลวงพ่อคูณรับฟังเรื่องซึ่งท่านไม่เคยคาดคิดมาก่อนเมื่อพวกชาวบ้านเล่าความจนหมดสิ้นท่นก็ได้แต่หัวเราะหึๆ บอกแก่ทุกคนว่า
“เป็นบุญของผีเมืองร้างที่ได้ใส่บาตรพระ ซ้ำยังช่วยต่อชีวิตพระไปได้อีกหลายมื้อ จะว่าไปแล้วข้าวปลาอาหารของผีนี่มันก็แซ่บหลายอยู่……”
เช้า วันรุ่งขึ้น……….หลวง พ่อคูณก็ออกบิณฑบาตตามกิจของท่าน เมื่อลงจากเขามาถึงทางแยกซ้ายขวา ท่านตัดสินใจเดินไปทางซ้าย ซึ่งเป็นเส้นทางไปบรรจบกับเมืองร้าง เมื่อเข้าสู่เขตเมืองร้างแล้ว คราวนี้ท่านมองไม่เห็นมีใครมารอคอยใส่บาตรเช่นทุกเช้าที่ผ่านมา ที่เห็นอยู่เบื้องหน้าท่ามกลางสายหมอกหม่นมัว คือซากปรักพังของเมืองโบราณซึ่งล่มสลายไปหมดสิ้น ความรุ่งเรืองของศิลปวัตถุทั้งหลายเหลือเพียงแต่เศษอิฐหินที่รอคอยการผุพัง กลายเป็นธุลีดินไปในที่สุด
หลวงพ่อคูณ สงบจิตจนแนบสนิทอยู่กับกุศลซึ่งท่านได้สั่งสมมา แล้วแผ่เมตตาออกไปยังวิญญาณทั้งหลายที่ยังวนเวียนอยู่ในอาณาบริเวณเมืองร้าง แห่งนี้ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้พบกับทางไปสู่สุคติที่ดีกว่า……….
จาก นั้น……หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ก็เดินกลับย้อนไปตามทางเดิม เมื่อถึงทางแยกท่านก็เลี้ยวไปตามทางลงเขาทอดไปสู่หมู่บ้านตีนเขา ซึ่งชาวบ้านกำลังเตรียมอาหารรอคอยใส่บาตรอยู่
อ่าน แล้วท่านทั้งหลายมีความรู้สึกอย่างไร ท่านเชื่อหรือไม่ว่าในโลกนี้จะมีสิ่งเร้นลับอยู่ปะปนกับพวกเรา เพียงแต่ว่าอยู่คนละภพเท่านั้น
นี่ คือประสบการณ์เผชิญวิญญาณบนเส้นทางธุดงค์ครั้งหนึ่งของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือท่านเจ้าคุณพระญาณวิทยาเถระ แห่งวัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุดทด จังหวัดนครราชสีมา
เรียบเรียงจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=amuletstory&month=22-09-2012&group=2&gblog=195