สิ่งที่เห็นคุ้นตา ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือกำหนดให้"สี"บนแผนที่สหรัฐฯมีทั้งสีแดงและน้ำเงิน
สีแดง หมายถึงพรรครีพับลิกัน
สีน้ำเงิน หมายถึงพรรคเดโมแครต
เรียกกันว่า"รัฐแดง" (red states) "รัฐน้ำเงิน"(blue states)
การใช้สี"แดง-น้ำเงิน"บนแผนที่แสดงรัฐต่างๆในสหรัฐฯเริ่ม ใช้กันอย่างแพร่หลายระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี พ.ศ.2543เป็นต้นมา
สีแดง น้ำเงินแสดงถึงพลเมืองในรัฐนั้นๆลงคะแนนเสียงให้กับผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคริพับลิกันหรือเดโมแครต
คำนี้นักข่าวที่ชื่อนายทิม รัสเซิท เป็นคนสร้างขึ้นระหว่างการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2543 ทางโทรทัศน์
ในตอนนั้นเป็นการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตัวแทนพรรครีพับลิกัน กับนายอัล กอร์ คู่ชิงจากพรรคเดโมแครต
ก่อนหน้านี้สื่อทั้งหลายมีการใช้สีต่างๆในภาพ แผนที่กราฟิคแสดงถึงจำนวนคนโหวตในรัฐต่างๆ แต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2543 นับว่าเป็นครัั้งแรกที่ใช้สีแดง และน้ำเงิน เป็นสีมาตรฐานอันเป็นที่เข้าใจตรงกันโดยทั่วไป
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแนวคิดนี้ได้ถูกขยายความออกไปเพื่อแสดงความแตกต่าง ระหว่างรัฐที่เชื่อในความคิดแบบเสรีนิยม และรัฐที่ยึดมั่นในหลักการอนุรักษ์นิยม งตรงข้ามกับความคิดดั้งเดิมที่มีมานานว่าสีแดง ไม่ว่าจะเป็นธงแดง หรือดาวแดง มีความหมายถึงพวกสังคมนิยม หรือกลุ่มปฏิวัติ และสีน้ำเงินอันเป็นสีคู่ตรงข้าม หมายถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยม
ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2543 สีตามแบบดั้งเดิมของริพับลิกันคือสีน้ำเงิน และสีแดงคือพรรคเดโมแครต ซึ่งในเชิงแนวคิดทางประวัติศาสตร์ยุโรปนั้น สีแดงถูกใช้กับพรรคการเมืองที่เอียงซ้าย และตามธรรมเนียมดั้งเดิมผู้สร้างแผนที่ทางการเมือง
ตลอดทั้งศตวรรษที่ 20 ก็ได้ใช้สีน้ำเงินแสดงถึงพรรคริพับลิกันเรื่อยมา
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2431 การเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนั้น ประธานาธิบดี โกรเวอร์ เคลฟแลนด์ และเบนจามิน แฮรรี่สัน ใช้แผนที่ซึ่งกำหนดให้สีน้ำเงินคือสีสำหรับพรรคริพับลิกัน ใช้พรรคการเมืองของลินคอล์น และสีแดงคือสีพรรคเดโมแครต
สำหรับพรรคการเมืองต่างๆไม่มีสีประจำของพรรคซึ่งผู้ชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีจะใช้สีต่างๆหรือใช้สีตามธงชาติคือแดง น้ำเงิน หรือใช้ทั้งสองสีรวมกัน
นิตยสารไทม์ได้กำหนดให้สีแดงหมายถึงพรรคเดโมแครตและสีน้ำเงินหมายถึงรี พับลิกันในภาพกราฟิคเกี่ยวกับการเลือกตั้งในทุกๆการเลือกตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2531-2543
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสก็เช่นเดียวกัน ภาพกราฟฟิคเกี่ยวกับการเลือกตัั้งในปีพ.ศ.2543 ก็ใช้สีน้ำเงินแทนพรรครีพับลิกัน และสีแดงคือเดโมแครต
นอกจากนั้นในอดีตก็มีตัวอย่างการใช้สีแทนพรรคที่แตกต่างกันไปอีกเช่นในปี พ.ศ.2451หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้พิมพ์แผนที่ฉบับพิเศษใช้สีน้ำเงิน สำหรับพรรคเดโมแครต และสีเหลืองคือพรรคริพับลิกัน แสดงรายละเอียดการได้ชัยชนะของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รุสเวล เมื่อปี พ.ศ.2447 ในปีเดียวกันหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ฉบับเดือนกรกฎาคม ได้ใช้สีแดงให้เป็นสีที่มีแนวโน้มจะเลือกพรรครีพลับลิกัน สีน้ำเงินเป็นรัฐที่มีแนวโน้มไปในทางพรรคเดโมแครต
ส่วนสีเหลืองคือรัฐที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกใคร และสีเขียวคือเขตที่ไม่มีการโหวตประธานาธิบดี
มาจนถึงปี พ.ศ. 2539สำนักข่าวต่างๆก็ยังคงเลือกใช้สีที่ต่างกันในการระบุว่าเป็นสีของพรรค ไหน เช่นCNN CBS ABC นิวยอร์คไทม์ กำหนดให้รัฐที่เลือกพรรคเดโมแครตใช้สีน้ำเงิน และพรรคริพลับลิกันใช้สีแดง ในขณะที่นิตยสารไทม์ และวอชิงตันโพสใช้สีที่สลับกัน ในช่วงการเลือกตั้งปี พ.ศ.2543 ซึ่งผลการเลือกตั้งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กับนายอัลกอร์นั้นออกมาอย่างไม่ชัดเจน จึงทำให้สื่อต่างๆเริ่มเห็นพ้องกันในการกำหนดให้ใช้สีเหมือนกันเพื่อแสดงถึง พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ตั้งแต่นั้นสื่อทั้งหลายรวมถึงประชาชนจึงเข้าใจตรงกันว่า สีแดงหมายถึงพรรครีพับลิกัน และสีน้ำเงินหมายถึงพรรคเดโมแครตแม้ว่าพรรคการเมืองทั้งสองพรรคจะไม่ได้ กำหนดว่าสีใดหมายถึงพรรคของตนอย่างเป็นทางการก็ตาม อย่างไรก็ตามอาร์ซี เซียร์ ผู้แต่งภาพกราฟิคแผนที่ในปี พ.ศ.2543 จากนิตยสารไทม์ซึ่งเป็นนิตยสารแรกที่เผยแพร่แผนที่สีของการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีแสดงความเห็นที่แตกต่างออกไปว่า ริพับลิกัน (Republican)ขึ้นต้นด้วยตัว R เลยน่าจะเป็น Red คือสีแดง
ในปัจจุบันนี้ เดโมแครตใช้สีน้ำเงิน และ รีพับลิกันใช้สีแดง ได้ถูกบัญญัติอยู่ในพจนานุกรมวารสารศาสตร์อเมริกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการยอมรับจากคณะกรรการพรรคอย่างเป็นทางการ แต่ในแต่ละพรรคก็ได้นำสีนี้มาใช้กันเป็นปกติ ยกตัวอย่างเช่น
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2555 นี้โพเดียมถูกออกแบบให้ใช้สีที่หมายถึงแต่ละพรรค รวมไปถึงสีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่ในวันที่มีการโต้อภิปรายประธานาธิบดีบารัคโอบาผูกเนคไทสีน้ำเงิน และนายมิตต์ รอมนีย์ ผูกเนคไทสีแดง
ผู้เขียน : ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล
ผู้อำนวยการศูนย์อเมริกันศึกษา
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ที่มา:
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1351574554&grpid=03&catid=&subcatid=