แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

usa

 เรื่องแปลกบางอย่างเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา เรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของแว่นตา ผู้สมัครไม่ค่อยจะใส่แว่นตา รวมถึงแว่นกันแดดด้วย เช่น ประธานาธิบดีโอบามาตีกอลฟ์กลางแดด จะแสบตาอย่างไรก็สู้แสง ไม่ยอมสวมแว่นกันแดด   หรือนายรอมนีย์  ที่เล่นเจ็ตสกี กลางแดดและก็ไม่ใส่แว่นอีกเหมือนกัน

  อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีบางท่านที่แม้ไม่ใส่แว่นตาในที่สาธารณะ แต่ก็ใส่แว่นอ่านหนังสือ (reading glasses)ตามธรรมดาของคนอายุมาก ประธานาธิบดีบางท่านใส่แว่นแบบนี้ เมื่อต้องพิจารณาเอกสารสำคัญ หรือ ลงนามในร่างกฎหมายต่างๆ เช่นประธานาธิบดีบิล  คลินตัน และ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ชอบใส่แว่นตกลงมาที่ปลายจมูกด้วยกันทั้งคู่


การที่พวกเขาไม่ใส่แว่นตาเวลาออกสื่อ หรือพบปะประชาชน เพราะเขาต้องการเปิดเผยดวงตาที่เป็นเสมือนหน้าต่างของหัวใจ ให้เห็นว่าเขาไว้วางใจได้ ไม่มีลับลมคมในที่ต้องปกปิดหรืออำพราง


และนี่เป็นวิธีหนึ่งในการแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชน

 

เหตุและผลของเรื่องนี้ก็คือ คำอธิบายที่ว่า การสบสายตา(eye contact) โดยปราศจากการปิดกั้น ไม่ว่าด้วยแว่นตา หรือแว่นกันแดด ช่วยให้เราสัมผัสคนที่เรามองอยู่ได้ชัดขึ้น  ดังนั้น  เราก็น่ารู้จักคนที่เรามองเขาได้ดีขึ้น  ฉะนั้น ถ้าไม่มีปัญหาสายตามากนัก ประธานาธิบดีก็มักจะไม่ใส่แว่น แม้แว่นกันแดดก็ไม่ค่อยใส่เช่นกัน


ประธานาธิบดีโอบามา ได้ชื่อว่ามีสายตาคมนิ่งดั่งเลเซอร์ (laser-focus eye contact) ดังจะเห็นได้จาก การโต้วาทีครั้งแรก   ประธานาธิบดีโอบามาในเวลาที่มองนายรอมนีย์ เขาใช้สายตาเฉียบคม(piercing eyes) แต่ในการโต้วาทีครั้งนั้น บางครั้งประธานาธิบดีโอบามาก้มหน้าไม่สบตา ทำให้คนดูการโต้วาทีรู้สึกว่า เขาไม่สนใจ ไม่รับฟัง สิ่งที่นายรอมนีย์พูด และมองว่าประธานาธิบดีโอบามาเสียคะแนนตรงนี้   ในอีกมุมมองหนึ่ง   การที่ประธานาธิบดีโอบามาไม่ยอมสบสายตา แสดงถึงการรวบรวมพลังความคิดอยู่

 

 


ส่วนนายรอมนีย์นั้นมองประธานาธิบดีด้วยสายที่อ่อนโยน(soft eye contact) และมีใบหน้ายิ้มแย้ม ฟังไปด้วย สบสายตาสบายๆ ไปด้วย ภาษากายของนายรอมนีย์จึงเหนือกว่าประธานาธิบดีโอบามาในเรื่องนี้ แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะสนใจมองผู้ฟัง และมองกล้องมากกว่านายรอมนีย์  แต่ก็ถูกมองว่าไม่กล้าสบสายตานายรอมนีย์

 

 

 


ข้อวิจารณ์ประธานาธิบดีและคำชมนายรอมนีย์ น่าไปถึงทั้งสองท่านผ่านสื่อต่างๆ  เพราะในการโต้วาทีครั้งที่สอง ประธานาธิบดีโอบามาพยายามมองนายรอมนีย์มากขึ้น ส่วนนายรอมนีย์นั้นก็มองประธานาธิบดีด้วยสายตาที่อ่อนโยนขึ้น มั่นใจ และเปิดเผย แต่ก็ไม่รอดพ้นการตั้งข้อสงสัยว่าเขายิ้มแบบเยาะๆ หรือแสร้งยิ้ม(smirk) หรือเปล่า


เป็นธรรมดาสำหรับทั้งสองท่านที่อยู่ในสายตาของสาธารณชน ที่จะต้องพร้อมรับ เรื่องการวิจารณ์ การตั้งคำถาม เพราะเป็นคนที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ฉะนั้น สายตาเฉียบคม หรือแววตาอ่อนโยน ก็จะยิ่งเห็นชัด  เพราะผู้คนมองพวกเขาอยู่    และชัดมาก  เพราะพวกเขาไม่ได้ใส่ แว่นตา


แต่เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งที่คอยอารักขาประธานาธิบดีพวกหนึ่ง ชอบใส่แว่น  แว่นที่ใส่ไม่ใช่แว่นสายตา แต่แว่นดำจนเกิดคำถามจากเด็กอเมริกันจำนวนมาก  พวกนี้คือ   หน่วยตำรวจลับ(secret service agents) ที่ชอบใส่แว่นดำจนเหมือนกับจะเป็นเครื่องแบบของชุดปฏิบัติการที่ขาดไม่ได้

 

 

 

ที่จริง เขาก็ไม่ได้ใส่แว่นตลอดเวลา แต่ก็ใส่บ่อย เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ใส่ไว้กันแดด(keep the sun out of their eyes)จะได้สบายตา เวลาสังเกตผู้คนรอบๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น และแว่นดำก็ปกปิดไม่ได้คนเห็นว่าภายใต้แว่นสีทึมนั้น เหล่าตำรวจลับได้กราดสายตาไปยังที่ใดบ้าง ก็ดวงตาเรามันปกปิดความคิดความรู้สึกของเรา ได้ง่ายที่ไหนกัน พวกนี้ทำงานลับๆทำหน้านิ่งๆ ไว้ไม่ยาก ก็ต้องปิดบังดวงตากันหน่อย จะได้ลับลึกสมชื่อ

 

ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจดังนั้น ความเปิดเผยและจริงใจจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญมาก  การสบสายตาจึงสำคัญ พร้อมๆ กันนี้ ต้องอาศัยเทคนิคการจูงใจอื่นๆ เช่น การสร้างความเป็นพวกเดียวกัน เช่น ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโอบามา หรือว่านายรอมนีย์ ต่างเรียกประชาชนอย่างเป็นกันเอง ว่าพรรคพวก(folk) คำนี้จึงได้ยินอยู่บ่อยมาก

 

ส่วนบ้านเรา เวลาหาเสียง นักการเมืองชอบใช้คำว่า พ่อแม่พี่น้อง  แต่ไม่ว่า พรรคพวก หรือ พ่อแม่พี่น้อง ก็เป็นคำที่ประชาชนชอบฟัง  เมื่ออยากจะได้คะแนนเสียงจากใคร ก็ต้องพูดอย่างที่ผู้ลงคะแนนเสียงชอบฟัง ไม่ว่าไทย หรือ อเมริกา ก็ไม่ต่างกัน...

 

 

**********************

เรื่อง : ดร.โชติสา ขาวสนิท
อาจารย์พิเศษ ภาครัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ 
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352230465&grpid=&catid=03&subcatid=0305

 

Go to top