แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

v  เชื่อหรือไม่ว่า "หนังสือ" ย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในมือได้

 

เชื่ออีกไหมว่า หนังสือเสกมนต์ให้ผู้อ่านหลุดเข้าไปผจญภัยในโลกแห่งจินตนาการที่ผู้เขียนเนรมิตขึ้นได้

 

และเชื่อหรือไม่ว่า หนังสือเปลี่ยนอนาคตเราได้เพียงแค่รู้จัก "รักการอ่าน"

 

 

หากใครไม่เชื่อลองหยิบหนังสือดีๆ สักเล่มมาเปิดอ่าน แล้วจะรู้เอง

  ในทางกลับกัน "หนังสือ" ต่อให้ดีแค่ไหน หากไม่เคยถูกเปิดอ่าน ก็ไม่ต่างอะไรกับหีบสมบัติที่แน่นิ่งจมผืนทรายอยู่ใต้ท้องทะเล
 
และคงไม่เกินเลยความจริง หากจะบอกว่าประเทศไทยในวันนี้ มีหีบสมบัตินอนนิ่งเพิ่มขึ้นทุกวันๆ เพราะสัดส่วนการใช้เวลาอ่านหนังสือของคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป เฉลี่ยอยู่แค่วันละ 39 นาที
 
โดยกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านมากที่สุดคือ กลุ่มเยาวชน เฉลี่ยอยู่ที่ 46 นาที ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ
 
รศ.วิทยากร เชียงกูล ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ นักเขียนเรื่องสั้น บทกวี บทละคร บทความ สารคดี นักแปล นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง และหัวหอกวิจัยโครงการคัดเลือกหนังสือดีมีคุณภาพควรค่าแก่การอ่าน เคยคัดเลือกหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่านไว้เมื่อปีพ.ศ.2541 และหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนควรอ่าน ปีพ.ศ.2543
b
 
ล่าสุดนี้รวมทีมวิจัยเฟ้นหา 100 หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชนอีกครั้ง โดยร่วมกับ ผศ.จินดา จำเริญ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการวรรณกรรมสำหรับเด็ก อ.พรพิไล เลิศวิชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้โดยสอดคล้องกับการทำงานของสมอง
 
ผศ.รพินทร คงสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลวรรณกรรมสำหรับเด็ก และสองหนุ่มใหญ่อารมณ์ดีอย่าง รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมศาสนา วาดการ์ตูน ออกแบบภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก พ่วงด้วย อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักวิชาการอิสระ และนักเล่านิทานสำหรับเด็ก
 
ทีมวิจัยแบ่งหนังสือออกเป็น 3 กลุ่มตามพัฒนาการ การรับรู้ และความสนใจของเด็ก ประกอบด้วยกลุ่มเด็กเล็กวัย 0-6 ขวบ กลุ่มเด็กโตวัย 6-12 ปี และกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนวัย 12-18 ปี
 
พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ที่สรุปคร่าวๆ คือ ต้องเป็นหนังสือเรื่องแต่งหรือบันเทิงคดี ที่เขียนได้สนุกน่าอ่าน โดยนักเขียนไทย หรือมีเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย
 
มีลักษณะเป็นวรรณกรรมที่ดี อ่านสนุกเพลิดเพลิน มีความสะเทือนอารมณ์ ประทับใจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เนื้อหาส่งเสริมความเข้าใจชีวิตและสังคม
 
มีเนื้อหา ท่วงทำนอง ภาพประกอบและการจัดรูปเล่มที่ดี สนองความเข้าใจของนักอ่านกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและโลกของผู้อ่านในวัยนั้นๆ
 
มีเนื้อหาสาระที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ สนใจคิดหรือศึกษาต่อเพิ่มขึ้นในเรื่องชีวิต สังคมวัฒนธรรม ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นำไปสู่การสนใจอ่านวรรณกรรมหรือหนังสือที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นต่อไป
 
ต้องไม่ซ้ำกับหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนควรอ่านเมื่อปี 2543 ตลอดจนหนังสือบันเทิงคดี 55 เล่ม ที่อยู่ในรายชื่อหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่คนไทยควรอ่านในปี 2541 และไม่นับรวมงานพระราชนิพนธ์หรือบทนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์
book
 
 ผ่านไป 10 เดือน ในที่สุดคณะวิจัยก็คัดเลือกหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชนได้ครบ 100 เล่ม โดยประกาศผลในงานมหกรรมสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
 
ในชื่องานว่า "100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน" จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในฐานะภาคีเครือข่ายที่ทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งชักชวนครูผู้ได้รับการเชิดชูจาก สสค.ให้เป็นครูสอนดีจากทั่วประเทศ มารับฟังแนวคิดวิธีการคัดเลือก ตลอดจนคุณลักษณะของหนังสือที่ดี พร้อมร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับคณะวิจัย เพื่อกลับไปขยายผลกับการเรียนการสอนต่อไป
 
"เวลาคัดเลือกก็เหมือนการทำหน้าที่กองบรรณาธิการ ต้องสำรวจหนังสือที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงหนังสือที่ได้รางวัล ซึ่งคณะวิจัยทุกคนก็เป็นหนอนหนังสืออยู่แล้ว จึงรู้ว่าหนังสือแต่ละเล่มที่เลือกมามีคุณลักษณะเด่น ด้อย อย่างไร"
 
  รศ.วิทยากรเล่าถึงขั้นตอนการทำงานตลอด 10 เดือน ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงแนวคิดของแต่ละคน เพื่อให้ได้หนังสือที่ดีที่สุด ทั้งรับฟังความคิดเห็นจากนักวิจารณ์ทั่วไป ตลอดจนประชาชนด้วย
 
"ในรอบกว่า 10 ปีที่ทำมา คณะวิจัยมีความเห็นว่าหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนถึงจะมีจำนวนมากขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้วยังถือว่ามีน้อยอยู่ สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเราพัฒนาหนังสือสำหรับวัยนี้น้อยเกินไป เพราะเมื่อเทียบกับหนังสือแปลดีๆ จากต่างประเทศ ดังนั้นการคัดเลือกหนังสือในครั้งนี้ นอกจากหนังสือใหม่ๆ แล้ว เรายังคัดเลือกหนังสือเก่าแต่ยังเป็นหนังสือที่ดีมารวมอยู่ด้วย เพราะเราต้องการส่งเสริมให้เกิดสังคมรักการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก"
 
พร้อมกันนี้นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง ยังแนะนำพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ควรหาหนังสือแปลดีๆ ของต่างประเทศมาให้ลูก หากรู้สึกว่าหนังสือสำหรับเด็กเล็กมีน้อยเกินไป เพราะการวิจัยครั้งนี้ต้องการส่งเสริมให้นักเขียนไทยและสำนักพิมพ์ไทย ได้พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งต้องการให้เด็กเข้าใจสภาพแวดล้อมของประเทศตัวเอง จึงไม่ได้แนะนำหนังสือแปลมาในงานวิจัย
 
"ถ้าเด็กได้อ่านหนังสือด้วยความสนุก ไม่ได้อ่านเพื่อคะแนน หรือเพราะถูกสั่งถูกบังคับ จะเกิดแรงจูงใจที่ยั่งยืนและยาวนาน ส่งผลให้เด็กรักการอ่านไปตลอดชีวิต ได้พัฒนาสมองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เรียนหนังสือเก่งขึ้น เหมือนกับว่าเขาได้เจอโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายสำหรับเด็กที่ไม่ถูกปลูกฝังให้รักการอ่าน" หัวหน้าทีมวิจัยฝากข้อคิดปิดท้าย
book
 
  สําหรับตัวอย่าง 100 หนังสือดี ประกอบด้วย "หนังสือสำหรับเด็กเล็กวัย 0-6 ขวบ" อาทิ "กุ๋งกิ๋ง ชุดนิทานส่งเสริมสุขนิสัย" ของ มนฤดี ทองกลอย และ "คุณช้างโต...ช่วยหน่อยได้ไหม" ของ วีระยุทธ เลิศสุดวิสัย
 
"หนังสือสำหรับเด็กเยาวชน 6-12 ปี" แบ่งเป็นประเภทการ์ตูน อาทิ "การ์ตูนพุทธประวัติ" ของ โอม รัชเวทย์, "มอม" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และประเภทนิทาน และนิทานประกอบภาพ อาทิ "เรื่องเอก นิทานอีสป" ของบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ห้องเรียน
 
หนังสือสำหรับเยาวชนและวัยรุ่น 12-18 ปี ประเภท การ์ตูน เรื่องสั้น นิทาน นวนิยาย ร้อยกรอง บทกวี ความเรียง-สารคดี อาทิ "ตรวจภายใน" ของ นิ้วกลม, "ลิ้นชักแห่งความทรงจำ" ของ อิทธิวัฎภ์ สุริยมาตย์ , "ความสุขของกะทิ" ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ และ "ชาล้นถ้วย" โดย ว.วชิรเมธี เป็นต้น
 
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู รวมถึงน้องๆ หนูๆ ที่สนใจอยากรู้ว่าหนังสือที่เหมาะกับตัวเองหรือคนที่เรารักมีเรื่องอะไรบ้าง สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สสค. www.QLF.or.th
 
เพราะครั้งหนึ่ง ใครจะรู้ว่า "วิลเลียม เฮนรี เกตส์" ชายผู้เลือกหันหลังให้กับชีวิตมหาวิทยาลัย จะกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับโลกนาม "บิลล์ เกตส์" จากแนวคิดและจินตนาการที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก "หนังสือ" ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับอัจฉริยะนาม "สตีฟ จ็อบส์" ผู้เป็นทั้งเพื่อนรักและคู่แข่งทางธุรกิจของเขา
 
 
 

 

Go to top