แพทย์แผนไทย โคราช รักษาโรค SLE ไขความลับวิธีรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคพุ่มพวง ( SLE)
รถตู้ให้เช่า ร้อยเอ็ด
หมอเอ ณัฐปราชญ์ คลินิก

chilli

 ก่อน ที่จะเข้าไปยังแปลงปลูกพริกของเกษตรกร คุณสุรศักดิ์ สิทธิไชย เกษตรอำเภอขามสะแกแสง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ปลูกพริกของอำเภอนี้ มีประมาณ 3,000 ไร่เศษ ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนในการผลิต ซึ่งสายพันธุ์พริกค่อนข้างทนทานต่อดินฟ้าอากาศ รวมทั้งศัตรูพืช
มีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ผลิตแบบเข้มข้น มีระบบน้ำให้ ส่วนนี้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการจัดการดี จึงมีผลผลิตต่อเนื่อง มีผู้ซื้อนำผลผลิตไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

 

 คุณสุรศักดิ์ บอกว่า ภาพรวมการผลิตพริก เกษตรกรได้ผลผลิต 1 ตัน ต่อไร่ ผลผลิตที่ขายได้เฉลี่ย 30-40 บาท ต่อกิโลกรัม


“ชาวบ้านปลูกพริกอยู่ได้ ทำเป็นอาชีพเสริมเสียส่วนใหญ่ บางคนทำเป็นอาชีพหลัก ถือว่าพริกเป็นพืชที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอนี้ ดินที่ขาม (อำเภอขามสะแกแสง) เป็นดินเค็ม เกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน มีบางส่วนที่มีแหล่งน้ำ ผลผลิตพริกเขาส่งต่างประเทศ ส่งตลาดในเมืองคือ ตลาดสุรนคร และตลาดกรุงเทพฯ ผมมารับตำแหน่งที่นี่ พยายามศึกษาเรื่องพริก ทำให้พบว่า พริกเป็นพืชที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ราวเดือนธันวาคม จะมีงานวันพริกของอำเภอ ต่อไปคงสนับสนุนให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร เกี่ยวกับศัตรูพริก” คุณสุรศักดิ์ บอก

chilli
ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปลูกพริกด้วยระบบน้ำหยด
เมืองย่าโม

หลังจากได้ข้อมูลเรื่องการปลูกพริกบางส่วนแล้ว คุณสุรศักดิ์ สิทธิไชย เกษตรอำเภอขามสะแกแสง และเจ้าหน้าที่ 2 คน ประกอบด้วย คุณรัชดา อิ่มเกตุ และ คุณวีราภรณ์ อินทรักษ์ ได้พาไปชมแปลงปลูกพริกของ คุณศิริภัสสร วงศ์วุฒิภัทร ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่บ้านเลขที่ 88 หมู่ที่ 2 ตำบลขามสะแกแสง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา โทร. (081) 878-4417


เดิมทีคุณศิริภัสสร ประกอบอาชีพจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมาก่อน เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช สำหรับพริก เธอบอกว่า ปลูกมาได้ 10 ปีแล้ว ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มผู้ปลูกพริกเพื่อการส่งออก ซึ่งสมาชิกของกลุ่มมี 30 คน แต่จะยืนพื้นผลิตทั้งปีอยู่ 8 คน


พริกที่ปลูกคือ สายพันธุ์ซุปเปอร์ฮอต และสายพันธุ์ฮอตเวฟ จัดเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ขณะเดียวกันปัจจัยการผลิตที่ใส่ลงไปให้กับต้นพริกก็สูงด้วย โดยทั้งระบบคุณศิริภัสสรบอกว่า ประมาณ 20,000 บาท ต่อไร่ ในจำนวนนี้มีค่าพันธุ์พริกที่ซื้อจากบริษัท ต้นละ 1 บาท นอกนั้นเป็นปุ๋ย สารเคมี รวมทั้งระบบน้ำ ที่เป็นระบบน้ำหยด ซึ่งแน่นอนเหลือเกิน ผู้ที่จะปลูกพริกด้วยระบบน้ำหยดได้ต้องมีแหล่งน้ำ คุณศิริภัสสร มีสระน้ำที่สามารถสูบมาเข้าระบบน้ำหยดได้อย่างสบาย


ระบบปลูกของคุณศิริภัสสร คลุมแถวปลูกด้วยพลาสติก ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้น ป้องกันวัชพืชขึ้นได้อย่างดี พลาสติกใช้ได้นาน 5-6 รุ่น


ระยะระหว่างต้นระหว่างแถวที่ปลูก 150 คูณ 50 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 3,000 ต้น

 chilli

ดูแลต้องถึง

คุณศิริภัสสร บอกว่า พริกที่ซื้อพันธุ์มาจากบริษัท อายุ 35 วัน


เมื่อปลูกพริกลงดินไปได้ 80 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ระยะเวลาของการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเก็บ 3 วันครั้งหนึ่งหรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พริกรุ่นหนึ่งเก็บได้ถึง 60 ครั้ง


พริกลูกผสม น้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีผลพริก 380 ผล


ระหว่างที่ปลูกพริก มีปัญหาและอุปสรรคไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องโรคและแมลง


เจ้าของบอกว่า โรคที่พบอยู่เป็นประจำคือ “โรคแอนแทรกโนส” พบในช่วงที่ฝนตกปรอยๆ และฝนตกหนัก โรคนี้ทำให้มีอาการเน่า หากใช้สารเคมีที่เบาๆ และเก็บผลผลิตในระยะที่เหมาะสม สามารถส่งออกได้ แต่หากโรคระบาดรุนแรง เอาไม่อยู่ ใช้สารดูดซึม ผลผลิตไม่สามารถส่งต่างประเทศได้


โรคอีกชนิดหนึ่งที่พบอยู่คือ อาการยอดขาว ใบร่วง เมื่อเป็นแล้วทำให้พริกไม่ติดดอก จึงทำให้ไม่มีผลผลิตเก็บ


ศัตรูอีกตัวหนึ่งที่พบอยู่คือ แมลงวันทอง ศัตรูตัวนี้มาทำลายผลพริก ตั้งแต่ที่ผลพริกยังเขียวอยู่ เพราะพริกมีศัตรูมากนี้เอง การดูแลจึงต้องทั่วถึง

chilli

 

ผลิตส่งออก
ผลผลิตน้อย แต่ราคาดี

คุณศิริภัสสร เล่าว่า งานผลิตพริกปลอดสารเพื่อการส่งออก ใช้ปัจจัยการผลิตจำกัด และต้องระมัดระวัง ทำให้ผลผลิตที่ได้ 1.5 ตัน ต่อไร่ ราคาที่ขาย ซึ่งมีผู้มารับส่งไปตลาดสหภาพยุโรป กิโลกรัมละ 80 บาท


งานผลิตพริกที่ไม่เข้มงวดเรื่องปัจจัยการผลิต คือใส่ปัจจัยเข้าไปเต็มที่ ผลผลิตที่ได้ 3-4 ตัน ต่อไร่ ขายตลาดทั่วไป กิโลกรัมละ 60 บาท


ในระหว่างปลูกพริกปลอดสาร ที่มีเป้าหมายเพื่อการส่งออกอยู่ เมื่อพริกใกล้เก็บผลผลิต แต่ปรากฏว่ามีศัตรูระบาดอย่างหนัก ไม่มีทางที่จะเอาอยู่ หากเจ้าของใช้ปัจจัยการผลิต อย่างสารกำจัดศัตรูพืชที่เข้มข้น แทนที่เจ้าของจะขายผลผลิตในราคาปลอดสาร ก็ขายพริกปลอดภัย ในราคาทั่วไป

 

ผู้ใหญ่ศิริภัสสร บอกว่า งานปลูกพริกต้องหมั่นเอาใจใส่ เพราะว่าหากมีศัตรูระบาด ราคาพริกอาจจะหล่นลงเหลือ 7-8 บาท ซึ่งขายในตลาดล่าง ทั้งๆ ที่ค่าจ้างเก็บ อาจจะสูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาท

 chilli

ยังมุ่งมั่นผลิตอย่างต่อเนื่อง
“หากผลิตได้คุณภาพ ส่งออกดีกว่า ที่ผ่านมา บริษัทมารับซื้อส่งออกได้ 8 ปีแล้ว ดิฉันมีพื้นที่ 14 ไร่ ทำหมุนเวียนตลอดปี ครั้งละ 4-5 ไร่ ทางกลุ่มส่งให้ผู้ส่งออกอาทิตย์ละ 2 ตัน แนวทางการผลิตของเรานั้น เริ่มต้นผลิตพริกปลอดสาร แต่เมื่อศัตรูระบาดมาก จึงมีการใช้สารป้องกันกำจัด ถือว่าเป็นพริกไม่ปลอดสาร แต่เป็นพริกที่ปลอดภัย ที่ผ่านมาการหาความรู้ของกลุ่ม ได้ความรู้จากสำนักงานเกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเกษตรกรผู้ปลูกพริกต้องหมั่นสังเกต ช่วงที่อากาศเปลี่ยน ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง”

ผู้ใหญ่คนเก่งเล่า และบอกต่ออีกว่า “สัดส่วนการจำหน่ายผลผลิต ขายตลาดบน 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นตลาดล่าง คนที่ซื้อส่งต่างประเทศ บอกว่า เขาส่งไปอียู 17 ประเทศ จริงๆ แล้วอยากขยายพื้นที่ปลูก ขยายให้มีผลผลิตเพิ่ม แต่ติดปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะคนหนุ่มสาวไม่นิยมทำเกษตร แต่ไปทำงานโรงงานมากกว่า”


ที่อำเภอขามสะแกแสง ถือว่าเป็นอำเภอหนึ่งที่ผลิตพริกเป็นล่ำเป็นสัน


ช่วงฤดูฝน ชาวบ้านทั่วไปมีผลผลิตพริกยอดสน พริกจินดา ออกมาจำหน่าย สร้างรายได้เสริม บางคนเป็นรายได้หลัก
แต่กลุ่มผู้ปลูกพริกเพื่อการส่งออก มีปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม จึงมีพริกทยอยออกสู่ตลาดทั้งปี

 

ที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348215890&grpid=03&catid=&subcatid=

 
Go to top