มีใครบอกว่าทุกวันนี้ ช้อปปิ้งมอลล์ คือ สถานที่บำบัด? เช่นที่มีบางผู้คนใช้คำว่า Retail Therapy เพื่ออธิบายคอนเซ็ปต์และรูปแบบของคนยุคนี้ที่การมาห้างสรรพสินค้า หาใช่เพียงแค่มาซื้อของ ช้อปปิ้ง กินข้าว แต่เป็นมากกว่านั้น
ในประเทศที่ความเป็นเมืองศิวิไลซ์เข้าขั้น ผู้คนส่วนมากอยู่อาศัยในตึกสูงคอนโดมิเนียม หรือมีไลฟ์สไตล์แนวดิ่งมากขึ้น การหา "พื้นที่" สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ย่อมเป็นเงื่อนไขหนึ่ง และห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันกำลังตอบโจทย์ทุกอย่างของ "คนยุคนี้" ที่อาจจะเรียกว่ายุคใหม่ก็ได้หรือยุคเก่าที่ใช้ชีวิตในสภาพยุคใหม่ก็ตามที
วันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งครอบครัวจึงสามารถมายังห้างสรรพสินค้า เริ่มต้นทานอาหาร ซื้อของ นั่งเล่น พูดคุย เดินเล่น ชมภาพยนตร์ จ่ายค่าสาธารณูปโภค และทุกอย่างที่แทบจะมีให้ทั้งหมดห้างสรรพสินค้าจึงพัฒนาสู่การมีทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร โรงภาพยนตร์ สถานที่ออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อให้ทุกชีวิตในทุกรูปแบบเข้ามาใช้บริการบนห้างสรรพสินค้า ซึ่งลักษณะนี้บรรดาช้อปปิ้งมอลล์ต่างๆก็ปรับปรุงปรับเทรนด์กันไปอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกับการขยับของอีกหนึ่งห้างยักษ์เก่าแก่อย่าง "สยามเซ็นเตอร์" ห้างสรรพสินค้าที่มีอายุถึง 40 ปี ก้าวเข้าสู่วงจรปรับโฉมเช่นกัน แน่นอนว่าด้วยการเป็น Retail Therapy นั้นย่อมไม่พลาด แต่การขยับปรับของสยามเซ็นเตอร์หนนี้ เรียกว่า "แปลงร่าง" เลยก็ว่าได้
"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" จึงต้องขอเข้าไปยลชมสยามเซ็นเตอร์ ยุค พ.ศ.2556 ในทำเลใจกลางเมืองศูนย์กลางแฟชั่น ในฐานะที่วันนี้สยามเซ็นเตอร์ประกาศพาตัวเองสู่ความศิวิไลซ์เต็มขั้นไปสู่ช้อปปิ้งมอลล์ยุคดิจิตอล
สยามเซ็นเตอร์โฉมใหม่ เปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยความล้ำสมัยที่ไม่ใช่แค่ "โครงสร้าง" แต่หมายถึงการใช้เทคโนโลยีและอินเตอร์แรคทีฟเพื่อการสื่อสารและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า
ประสบการณ์ใหม่นี้คือ การช้อปปิ้งแบบดิจิตอลที่อำนวยความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากขึ้น เช่น การเลือกซื้อสินค้า ช้อปปิ้งผ่านจอแอลซีดี ในแบบอินเตอร์แรคทีฟ ที่มีการสื่อสารตอบโต้กันกับลูกค้า
จอแอลอีดีขนาดใหญ่ถูกเปรียบให้เป็น "ห้องลองเสื้อ" หลายคนอาจคุ้นตาวิธีนี้จากภาพยนตร์ หรือบางที่ที่ใช้การเลือกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายผ่านระบบดิจิตอบ ซึ่งสยามเซ็นเตอร์นำมาใช้กับการช้อปปิ้งจริง เพียงคุณยืนให้กล้องจับภาพถ่ายรูป และเลือกภาพ ที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่คุณต้องการลอง ชุดเสื้อผ้าก็จะมาทาบทับบนร่างคุณโดยไม่ต้องถอดเสื้อผ้าเปลี่ยนซักชิ้นให้เสียเวลา...
และไม่ให้ตกเทรนด์โซเชียลเน็ตเวิร์ก คุณทำมากกว่านั้น ได้ด้วยการแชร์ภาพที่เพิ่งถ่ายผ่านเสื้อผ้าลงในเฟซบุ๊กให้เหล่าแฟชั่นนิสต้าเพื่อนๆในเฟรนด์มาโพสคอมเมนท์กันได้ทันที
การให้ข้อมูลแบบอินเตอร์แรคทีฟผ่านจอแอลซีดียังมีตลอดทั่วทั้งห้างตั้งแต่อยากจะไปแผนกไหน เพียงคลิกจอสัมผัส เพื่อหาข้อมูลร้านค้าที่ต้องการไป แผนที่ดิจิตอลที่บอกเส้นทางไปยังจุดหมายจะให้รายละเอียดมาทันที แถมเผื่อลูกค้ายังไม่แน่ใจว่าร้านที่ไปจะมีอะไรให้ยล เจ้าจอแอลอีดีนี้ก็จะบอกรายละเอียดเบื้องต้นของทางร้าน เช่น แจ้งอีเวนท์ หรือโปรโมชั่นที่กำลังมีอีกด้วย
ความดิจิตอลนี้จะตามติดกันไปตลอดในสยามเซ็นเตอร์ 2556 แค่บันไดยังน่าสนุก เมื่อถูกดีไซน์ให้เป็นอินเตอร์แรคทีฟกับผู้ใช้งาน เพราะทันทีที่เท้าเหยียบบันไดที่เป็นจอแอลอีดีอินเตอร์แรคทีฟ ภาพลูกโป่งก็จะลอยขึ้นมา ถ้ามาเจอกับเท้าเราเหยียบเข้าลูกโป่งก็จะแตก...โผล๊ะ!! เรียกว่าสนุกกันกระทั่งขึ้นบันไดทีเดียวจอแอลอีดีถูกนำมาใช้ให้เป็นมากกว่าจอสี่เหลี่ยมทั่วทั้งห้าง นอกจากใช้เพื่อสื่อสารข่าวและข้อมูลของ "สยามเซ็นเตอร์" กับลูกค้าแล้ว อีกภารกิจที่จะเข้ามาเติมเต็มคือ ยังเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะแบบเคลื่อนไหว ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาแสดงอยู่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามพูดอย่างนี้ ใช่ว่างานศิลปะจะถูกแสดงผ่านจอแอลซีดีเพียงผิวเผิน มองผ่านๆ แต่ทางห้างยังจัดพื้นที่เพิ่มเติมให้ชมงานศิลปะดังๆเป็นการเฉพาะอีกด้วย
ขณะที่ "ประชาชาติออนไลน์" เยี่ยมชมนั้น เป็นการแสดงผลงานของศิลปินพ็อพอาร์ตระดับตำนานของโลก "แอนดี้ วอร์ฮอล" (Andy Warhol) โดยมีการจัดแสดงผลงานของแท้ที่มีชื่อเสียงวงกว้างถึง 6 ชิ้น อาทิ ภาพพ็อพอาร์ต เหมาเจ๋อตุง, มาริลีน มอนโร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผลงานของดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่นที่มีผลงานคุ้นตาอย่าง "โยจิ ยามาโมโตะ" (Yohji Yamamoto) มาจัดแสดงอีกด้วย
สยามเซ็นเตอร์จึงกลายเป็นห้างสรรพสินค้าดิจิตอล อินเตอร์แรคทีฟ ที่ซ่อนความเป็นแกลลอรี่มิวเซียมอยู่ภายใน ซึ่งเป็นความตั้งใจส่วนหนึ่งของสยามเซ็นเตอร์ที่จะเป็น "Ideaopolis" ที่ไม่ใช่แค่การช้อปปิ้งแต่ต้องการเป็นเมืองแห่งแรงบันดาลใจ
ร้าน ค้าที่นี่จึงมีความพิเศษกว่าที่อื่นจากการออกแบบตกแต่งร้านที่ต้องมี คอนเซ็ปต์ของร้านให้โดดเด่นที่สำคัญต้องให้เข้ากับธีมของห้างและช็อปของที่ นี่ก็ต้องมีความพิเศษจากสาขาอื่นที่มีเรียกว่า แต่งร้านในสไตล์เฉพาะที่สยามเซ็นเตอร์เท่านั้น
ใครอยากรู้คงต้องรอมาเดินชมกัน เพราะหลายร้านบอกได้เลยว่า การตกแต่งเรียกว่าคล้ายหนังสือป็อปอัพที่เรียกความรู้สึกการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เดินผ่านไปมาไม่น้อย จึงหลุดพ้นความจำเจ และเดินชมความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละร้านกันอย่างเต็มที่ ถึงไม่ช้อปสินค้า เพียงเดินดูร้านก็เพลินแล้ว
อีกจุดพิเศษของสยามเซ็นเตอร์ 2556 คือ การมีคอลเลคชั่นหรือเมนูพิเศษที่เรียกว่า "แอบโซลูทสยาม" (Absolute Siam) ที่จะมีผลิตภัณฑ์ สินค้าบางอย่างจำหน่ายเพียงสยามเซ็นเตอร์เท่านนั้น ในสัดส่วน 20 % ของสต็อกสินค้าทางร้าน เช่น ร้านเค้ก "มองบลังค์" ที่ขายขนมสูตรฝรั่งเศส สไตล์ญี่ปุ่นอันโด่งดังที่เชียงใหม่ และเพิ่งเปิดสาขาแห่งแรกที่สยาม ก็จะมีเมนูพิเศษ "ชูครีมสตรอเบอร์รี่" ที่มีขายที่สาขาสยามเซ็นเตอร์เท่านั้น หรือ ร้านกาแฟสตาร์บัคในสยามเซ็นเตอร์ จะมีแก้วทัมเบลอร์ที่ออกแบบลายใหม่ 2 แบบที่มีขายที่สาขาสยามเซ็นเตอร์เท่านั้น เป็นต้น
ภาพรวมความเก๋ไก๋ของสยามเซ็นเตอร์คือ แรงบันดาลใจที่ได้จากย่านโซโห ในนิวยอร์ก ทำให้งานออกแบบมีความเป็นอินดัสเทรียลเน้นความเป็นไม้และโลหะ ที่แปลกตามากที่สุดเห็นจะเป็นภายนอกตัวห้างสรรพสินค้าที่เป็นอาคารฉาบสีดำ ตั้งตระหง่านเรียกทุกสายตา ส่วนภายในตกแต่งด้วยธีมสีดำ-ขาว แต่ละพื้นที่มีการจัดแสง และให้แสงที่ต่างกัน เพื่อให้อารมณ์ที่ต่างไป
ตลอดการเดินชมการแปลงโฉมใหม่ของสยามเซ็นเตอร์ คือ ความสุนทรีย์ เทคโนโลยี อินเตอร์แรคทีฟ ถือว่าตอบโจทย์ประสบการณ์ใหม่ที่สยามเซ็นเตอร์นำเสนอได้พอดิบพอดี
ส่วน ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กผู้อ่านประชาชาติฯออนไลน์น่าจะได้ลองเข้ามาชมและใช้ บริการสยามเซ็นเตอร์กันดูสักครั้งเพราะโดนใจชาวออนไลน์กันจริงๆ
ที่มา:http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1357891833&grpid=09&catid=21&subcatid=2100